หากใครได้ศึกษาประวัติศาสตร์แห่ง ‘สี’ ย่อมทราบดีว่า นี่คือเรื่องมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของมนุษยชาติ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือบันทึกความสวยงามทางอารยธรรมมายาวนาน นำไปสู่การ ‘วิจัย’ ค้นคว้าหาความรู้อย่างจริงจัง ในที่สุดก็เกิดทฤษฎีสีโลกขึ้นมาเรียกว่ามาตรฐาน Munsell เมื่อกว่า 100 ปีก่อน
สำหรับประเทศไทย แม้จะมีศาสตร์และศิลป์งดงามไม่แพ้ชาติใด แต่การจัดหมวดหมู่ของสีอย่างเป็นระบบกลับไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น งานจิตรกรรมฝาผนังโบราณซึ่งใช้สีอย่างมีเอกลักษณ์ เพชร พลอย อัญมณี เครื่องประดับสะท้อนอัตลักษณ์สยามก็ควรมีมาตรฐานกำหนดคุณค่าได้อย่างชัดเจน ฯลฯ
หนึ่งในผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘ปราชญ์’ ในความรู้ในเรื่องสีระดับสากล ก็คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ศักดา ศิริพันธุ์ ราชบัณฑิต ในฐานะนักฟิสิกส์ นักวิทยาศาสตร์ และบุคคลทรงคุณค่าแห่งวงการถ่ายภาพของประเทศไทย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ศักดา ได้รับรางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย หรือ TTF AWARD สาขาสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เมื่อปี พ.ศ.2560 จากหนังสือชื่อว่า “สีในศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม”
ที่มาของหนังสือเล่มนี้ได้ช่วยสร้างบูรณาการความรู้เรื่อง ‘สี’ ในศิลปและวัฒนธรรมไทย กระทั่งได้รับการจัดเข้าสู่มาตรฐานสากล เกิดพัฒนาการ ต่อยอดทั้งทางธุรกิจและงานออกแบบ ยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ การพิมพ์ การถ่ายภาพ และสีไทยเป็นที่ยอมรับระดับโลก