[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

แม้ไต้หวันจะเป็นแดนสวรรค์ของ คนรักกระดาษ เพราะมีงานเปเปอร์ดีไซน์สวยๆ ออกแบบดีๆ ให้เลือกมากมาย แต่สำหรับ หนังสือเล่มแล้ว เข็มทิศกลับเดินตรงกันข้าม ยอดคนจับจ่ายซื้อหนังสือออนไลน์เพิ่มขึ้นและคนเข้าบุ๊คสโตร์แผ่วลงจนน่าใจหาย หลายๆ สำนักพิมพ์ต้องปิดตัวลงไป

ใครที่ชอบไปไต้หวันคงเคยไปร้านหนังสือ Eslite’ ที่มีสาขาอยู่มากมาย โดยเฉพาะศูนย์กลางเมืองใหญ่ๆ อย่างไทเป ไท่จง หรือเกาสง ฯลฯ … อาณาจักรของ Eslite มาพร้อมกับความรุ่งโรจน์ของอุตสาหกรรมการอ่านในยุค ’90 เรื่อยมาจนถึงต้นทศวรรษที่ 2010 เคยมียอดจำหน่ายต่อปีถึง 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนกระแสดิจิทัลจะเข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว

ร้าน Eslite มีหนังสือให้เลือกทุกรูปแบบและอ่านฟรี

เยาวชนไต้หวันใช้เวลาอ่านหนังสือวรรณกรรม

แผนกแม็กกาซีนมีนิตยสารใหม่ๆ จากทั่วโลก

หนังสือด้านอาหาร มีทั้งภาษาจีนและอังกฤษ

การเติบโตสุดๆ เกิดขึ้นเพราะคนไต้หวันมีรสนิยมหาความรู้ใส่หัวและเก็บเกี่ยวความสุขให้กับตัวเองด้วยการอ่าน นักเขียนชื่อดังมากมายและงานออกแบบกราฟิกดีไซน์ก็โดดเด่น กระทั่งร้าน Eslite สามารถขยายสาขาได้ทั่วทั้งเกาะแถมออกไป ปักธงธุรกิจได้ในฮ่องกง

แม้แต่สื่อกระแสหลักในไต้หวันเอง ครั้งหนึ่งยังต้องคอยมอนิเตอร์รายงานข่าวทุกๆ เดือนว่าหนังสือ Bestseller บนหิ้งของร้าน Eslite ที่ยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์นั้น คือหนังสือของดาราคนไหน นักร้องชื่อดังหรือนักประพันธ์ชื่อก้องท่านใด

ชั้นวางหนังสือขายดีที่สุดประจำเดือน

โดยเฉพาะในช่วงที่ Eslite ประกาศเปิดร้านหนังสือ Eslite’s Dunnan branch ในปี 1989 สาขาแรกของโลกที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุดเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา ทุกคนต้องตะลึงว่าจริงหรือ? จะทำเงินได้มั้ย? คุ้มค่าหรือไม่? 

เมื่อเปิดไประยะหนึ่ง กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่ามันเวิร์ค และเห็นผล ไม่ใช่เพียงเรื่องยอดขาย แต่เกิดภาพลักษณ์ใหม่และกลายเป็น พลังในการขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้ของคนไต้หวันอย่างแท้จริง

ไม่เพียงแต่เป็นบ่อน้ำดับความกระหายใคร่รู้ของผู้คน แต่ Eslite สาขา Dunnan ยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ดูงาน ของผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ล้วนอยากเห็นร้านหนังสือที่เจ้าของบอกว่าไม่ต้องซื้อก็ได้ หยิบจากชั้นวางแล้วจะนั่งอ่านทีละหน้า พลิกทีละเล่ม ก็ไม่เห็นเป็นไร ใช้เวลาพินิจพิเคราะห์ระหว่างบรรทัดนานกี่โมงกี่ยามก็ถือเป็นความศิวิไลซ์ของชีวิต มีร้านกาแฟ ร้านอาหารไว้บริการอีกต่างหาก

กระทั่งสำนักข่าวระดับโลกอย่าง CNN ต้องมารายงานข่าวและทำสกู๊ปร้านหนังสือแห่งนี้ พร้อมให้คำนิยามว่าเป็น ‘one of the world’s coolest bookstores’ เรียกว่าเป็นไอเดียที่เจ๋งสุดๆ

อุตสาหกรรมการอ่านของไต้หวันขยายวงกว้างออกไปไม่ใช่แค่ในร้านหนังสือ แต่ภาพรวมระดับชาติด้วย รัฐบาลของเค้าส่งเสริมแบบครบวงจรสะท้อนได้จาก การจัดงาน Taipei International Book Exhibition ช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคมของทุกปี ในปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 27 แล้ว 

งาน TIBE ได้สะสมความสัมพันธ์ของสำนักพิมพ์ทั่วโลกเอาไว้แนบแน่น สร้างเมืองหลวงแห่งคนรักหนังสือ มียอดผู้เข้าเยี่ยมชมไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนคน และปักหมุดว่าทุกๆ ปี หนังสือเล่มใหม่ของบรรดานักเขียนเรืองนาม สำนักพิมพ์เลื่องชื่อ ควรจะต้องมีอยู่ในบูธของอีเวนต์นี้ รวมถึงสำนักพิมพ์ของประเทศไทยก็ไปเข้าร่วมเช่นเดียวกัน

คนไต้หวันยังคงรักการอ่านแม้จะน้อยลงก็ตาม

ปัจจุบัน ไต้หวันมีสำนักพิมพ์มากกว่า 117 แห่งทั้งในระบบออนไลน์และออฟไลน์ ขณะที่หน่วยงานด้านการศึกษาของไต้หวันระบุว่า ในปีที่ผ่านมามีคนเข้าถึงบริการห้องสมุดสาธารณะมากกว่า 90 ล้านครั้ง แน่นอนมันคงเป็นตัวเลขที่สวยหรูดูดีมาก ถ้าเราไม่ย้อนกลับไปมองช่วง 10 ปีที่ผ่านมา  

หลี่เฮ่อ เจ้าของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งในไต้หวัน กล่าวกับ สำนักข่าว Radio Taiwan International ว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาร้านหนังสือในไต้หวันปิดกิจการไปแล้วกว่า 400 แห่ง

ตามสถิติของกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า ปี 2015 คนไต้หวันอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 8.5 เล่ม แต่พอมาถึงปี 2018 เหลือเพียง 4 เล่มต่อปี ปัญหาส่วนหนึ่งคือการมีลูกน้อยลง กลุ่มวัยรุ่นและสังคมมีกำลังซื้อถดถอย รวมทั้งบรรยากาศแห่งการอ่านหนังสือในไต้หวันก็เจือจางจากกระแสโลกออนไลน์ที่มาแรง ทำให้ตลาดหนังสือแทบจะต้องล้มทั้งยืน

ในปี 2010 เคยมียอดขายสูงถึง 36,700 ล้าน NT แต่ผ่านมาเพียง 8 ปี เหลือเพียงครึ่งเดียว เฉลี่ยคนไต้หวันควักกระเป๋าซื้อหนังสือเพียง 700 NT ต่อปีเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นนิยาย ท่องเที่ยว ไลฟ์สไตล์เสียเป็นส่วนใหญ่  

ร้านหนังสือกลางกรุงไทเป ถนนฉงชิ่งใต้ ตอนนี้กลายเป็นร้านเครื่องดื่มหรือร้านอาหาร ดัดแปลงเป็นโรงแรมเพื่อความอยู่รอด แม้แต่ร้านหนังสือ Eslite ชื่อดังในไต้หวัน ก็ต้องปิดสาขาในเกาสงถึง 4 สาขาแล้ว

บิลบอร์ดกระตุ้นการอ่านและซื้อหนังสือ

แน่นอนว่า Eslite สาขา Dunnan ที่เปิดให้บริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง มาเป็นเวลาร่วม 30 ปี ก็กำลังจะปิดสาขา ลงอย่างเป็นทางการใน วันที่ 31 พฤษภาคม 2020 นี้ด้วยเช่นกัน นับเป็นสัญญาณของความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมการอ่านหนังสือเล่มอย่างแท้จริง

The Guardian เคยสัมภาษณ์ผู้คนที่มาใช้บริการร้าน Eslite แห่งนี้ไว้ดีมากๆ พวกเขาไม่ใช่คนร่ำรวยที่จะซื้อหนังสือแพงๆ ไม่ได้มีเวลาจิบกาแฟแล้วค่อยๆ ละเมียดเหมือนคนรุ่นใหม่หลายคน พวกเขาเป็นเพียงคนหาเช้ากินค่ำ ที่มีโอกาสดื่มด่ำกับตัวหนังสือได้โดยไม่จำกัดเวลา

Yao Hong พนักงานออฟฟิสวัย 31 ปี ใช้เวลาตอนตีหนึ่งตีสองนั่นอ่านบริเวณพื้นบันไดของร้าน Eslite โดยไม่มีพนักงานคนใดมาเร่งเร้าหรือไล่ให้ไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ ผมมาที่นี่ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นหนึ่งในสถานที่ๆ ผมชอบมากที่สุด ถ้าเป็นวันเสาร์จะอยู่จนถึงตีสี่แล้วค่อยกลับบ้าน

ร้านหนังสือแห่งนี้ ยังมีความสำคัญไม่เพียงแต่เป็น แหล่งความรู้แต่ยังเคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แบบคูลๆ อีกด้วย ตามคำบอกเล่าของ Wong Xin Hua นักเดินทางรุ่นใหม่ว่า เรามีบุ๊คสโตร์มากมายในมาเลเซียแต่ไม่มีแห่งใดเหมือนที่นี่ 

ร้านหนังสือเล็กๆ ยังอยู่ได้ด้วยคนอ่านเฉพาะกลุ่ม

วัฒนธรรมการอ่านในไต้หวันกำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ปัจจุบันร้าน Eslite สาขา Dunnan บรรจุหนังสือกว่า 2 แสนเล่ม และสร้างขึ้นในรูปแบบ StandAlone ไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้าหรูหรา หรือย่านธุรกิจคึกคัก หมายความว่า หากนักท่องเที่ยวจะเดินทางไป คงต้องมุ่งมั่นอย่างแท้จริง โดยสามารถนั่งรถไฟใต้ดินจากสถานี Taipei Main Station สายสีน้ำเงินลงสถานี Zhongxiao Dunhua แล้วเดินอีกประมาณ 200 เมตร ก็จะได้สัมผัส ร้านหนังสือที่สุดยอดแห่งยุค ก่อนที่เค้าจะปิดตัวเองลงไป เหลือไว้เพียงความทรงจำ

…หรือว่าทุกคนกำลังนับถอยหลังเข้าสู่โหมดการล่มสลายทางวัฒนธรรมของการอ่านหนังสือในเมืองหลวงแห่งนี้!!