หากศึกษาประวัติศาสตร์แห่ง ‘สี’ ทุกคนจะรู้ดีว่า นี่คือสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของมนุษยชาติในฐานะเครื่องมือบันทึกความสวยงามทางอารยธรรมและมีการ ‘วิจัย’ ค้นคว้าหาความรู้เรื่องสีอย่างจริงจังจนเกิดทฤษฎีใหม่เรียกขานมาตรฐานสี Munsell ฯลฯ เมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมา
สำหรับประเทศไทยแล้ว แม้มีศาสตร์และศิลป์ยาวนานไม่แพ้ชาติใด แต่การจัดหมวดหมู่ของสีอย่างเป็นระบบระเบียบ กลับไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งๆ ที่งานจิตรกรรมฝาผนังโบราณใช้สีอย่างมีเอกลักษณ์ เพชร พลอย อัญมณี เครื่องประดับ ล้วนมีอัตลักษณ์สยาม แต่ขาดมาตรฐานกำหนดคุณค่า
หนึ่งในผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีระดับสากล ก็คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณศักดา ศิริพันธุ์ ราชบัณฑิต ในฐานะนักฟิสิกส์ นักวิทยาศาสตร์ และบุคคลทรงคุณค่าแห่งวงการถ่ายภาพของประเทศไทย ผู้ได้รับ รางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย หรือ TTF AWARD สาขาสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เมื่อปี พ.ศ.2560 จากหนังสือชื่อ “สีในศิลปวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม”
การก่อกำเนิดของหนังสือเล่มนี้ สร้างบูรณาการความรู้เรื่อง ‘สี’ ในศิลปะและวัฒนธรรมไทยไปสู่มาตรฐานสากล พัฒนาการ ต่อยอด ทั้งทางธุรกิจและงานออกแบบ ผลิตสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับ การพิมพ์ การถ่ายภาพ และสีของไทยเป็นที่ยอมรับระดับโลก
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ศักดา จบการศึกษาจาก สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ และสถาบันเทคโนโลยี Rochester แห่งนิวยอร์ค ดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2538-2542 เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระนางเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อดีตนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ คนแรก
จุดเริ่มต้นของหนังสือ “สีในศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม” นับจาก พ.ศ.2525 ที่ประเทศไทยเตรียมจัดงานเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ 200 ปี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้ ศาสตราจารย์กิตติคุณศักดาในฐานะที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของ ‘สี’ ดำเนินการพัฒนาการเรียกชื่อและบรรยายลักษณะปรากฏของสีในจิตรกรรมฝาผนังของไทย หลังไม่พบการศึกษาค้นคว้าหรือสร้าง Color Chart ที่ชัดเจนเป็นมาตรฐาน
ระหว่างการศึกษานั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ศักดา ได้เชิญศิลปินผู้เชี่ยวชาญด้านภาพจิตรกรรมฝาผนังมาช่วย Paint ลักษณะสีของไทย อาทิ แดง เขียว น้ำเงิน ที่ใช้ในการวาดตั้งแต่สมัยโบราณ จากนั้นนำไปเปรียบเทียบกับลักษณะสีของ Munsell เพื่อให้สีในจิตรกรรมฝาผนังไทยเข้าสู่ระบบสากล จะเป็นการอนุรักษ์ลักษณะของสี ชื่อสี ให้ดำรงอยู่สืบไป
งานวิจัยครั้งนี้ได้นำไปสู่ ภาพพิมพ์ ‘แถบสี’ ซึ่งมีชื่อภาษาไทยทั้งหมด 50 แถบ เกิดมาตรฐานการบรรยายลักษณะ สีที่มีชื่อไทยเป็นอย่างเดียวกัน และช่วยให้สีในจิตรกรรมไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ลดปัญหาความสับสนและช่วยในการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังในอนาคต
“นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ใช้วิธีให้ชื่อสีในจิตรกรรมฝาผนัง โดยใช้ระบบสีของ Munsell และ CIE วิธีการดังกล่าวเปรียบเหมือนกับการกำหนดโน้ตสากลให้แก่เพลงไทยนั่นเอง”
ในเวลาต่อมา ศาสตราจารย์กิตติคุณ ศักดา ยังได้ขยายการพัฒนาเรื่องมาตรฐานสี ไปสู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยสร้างชุดมาตรฐานพลอยสี (Colored Stone Quality Standard) ให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ นับเป็นครั้งแรกในการจัดชั้นเกรดทับทิม ซึ่งได้รับการยกย่องในฐานะ ‘ราชาแห่งอัญมณี’ และประเทศไทยก็มีชื่อเสียงมากทั้งเรื่องของสี ความสุกใสเป็นประกาย และความโปร่งใส ฯลฯ
“มาตรฐานพลอยสี (ทับทิม) เป็นเครื่องมือในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อ โดยระบุรหัสสี Munsell ของพลอยในใบ Certificate ของสถาบัน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของพลอยสีไทยในตลาดโลก”
หนังสือ “สีในศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม” เล่มนี้ จึงช่วยยกระดับความรู้เรื่องสีอย่างเป็นระบบแก่คนไทย สามารถจะนำไปประยุกต์ในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้อย่างดีและมีอานุภาพ จึงไม่แปลกที่ คณะกรรมการพิจารณารางวัล TTF AWARD โดยมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกย่องคุณค่าของหนังสือเล่มนี้
“แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ เกิดจากการทำวิจัยเรื่องสีมามาก ก็ควรทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน โดยนำมาเรียบเรียงให้ง่ายในการอ่านของคนทั่วไปและผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเข้าใจได้ เกิดผลดีต่อสังคมและประเทศชาติอย่างแท้จริง”
“สีในศิลปวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม” จึงเป็นหนังสือรางวัล TTF AWARD อีกเล่มหนึ่งที่น่าอ่าน อันจะนำไปสู่แสงสว่างทางปัญญาให้ทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพสามารถยกระดับมาตรฐานผลงานและองค์ความรู้ของคนไทยให้เป็นที่ประจักษ์สู่สายตาระดับสากล