หากเปรียบกับชีวิตผู้คน…วัย 85 ปี มักจะหันกลับไปมองความสำเร็จในอดีตที่ผ่านมา แต่สำหรับ ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ใช้โอกาสวันสถาปนาครบรอบปีที่ 85 เมื่อ 27 มิถุนายน 2562 สะท้อนวิสัยทัศน์เพื่อก้าวสู่โอกาสแห่งอนาคต ด้วยคำว่า 85 Years Now, Years Forwardการปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 21 สำคัญมากเท่าๆ กับปรัชญาที่ธรรมศาสตร์กำเนิดขึ้นพร้อมคำว่า “ประชาธิปไตย” เปิดกว้างเสมอภาคและยกระดับชีวิตทุกคน เริ่มจากโรงเรียนกฎหมายมาสู่ผู้นําความรู้ด้านสังคมศาสตร์..ปัจจุบันมีหลักสูตรครอบคลุมทุกด้าน (Comprehensive University) เปิดสอน 4 แคมปัส ได้แก่ ท่าพระจันทร์ ศูนย์รังสิต ศูนย์พัทยาและศูนย์ลำปาง มีคณะต่างๆ รวม 27 คณะ และยังยึดมั่นอุดมการณ์มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน
“85 ปีที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์เติบโต พัฒนา และก้าวหน้า จนสามารถประกาศนามในเวทีโลก เทียบชั้นกับมหาวิทยาลัยชั้นนําที่เก่าแก่เป็นร้อยปี จากทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา และ 85 ปีต่อไปข้างหน้า เราก็จะก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง” คำกล่าวของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สู่เป้าหมาย ‘มหาวิทยาลัยแห่งอนาคต’
การปรับตัวในโลกยุคดิจิทัลและแนวโน้มอัตราผู้เรียนในระบบอุดมศึกษาลดลง จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วางบทบาท 4 ด้าน ประการที่ 1 ธรรมศาสตร์จะเป็น Hub ซึ่งหมายถึง Hub of Sciences for the Future หรือ Hub ของศาสตร์แห่งอนาคต เมื่อโลกใบใหญ่เล็กลงเรื่อยๆ แต่หมุนเร็วขึ้น เชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อกัน เป็นวิถีชีวิตใหม่ของเราไปแล้ว ธรรมศาสตร์จึงให้ความสําคัญกับการพัฒนาศาสตร์ใหม่ๆ แนว ‘4i’ ได้แก่ Innovative นวัตกรรมวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นด้าน Robotic, Blockchain, Biomedical, Big Data, Startup หรือ Digital Transformation รวมถึงการเติมความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ลงในศาสตร์เดิมที่มีอยู่
I ที่ 2 คือ Integrated บูรณาการเชิงวิชาการที่ผสานความรู้ข้ามศาสตร์ เพื่อให้เกิดทักษะที่รอบด้านในการแก้ไขปัญหา I ที่ 3 International ทุกศาสตร์ตอบโจทย์ข้ามพรมแดนและใช้ประโยชน์ได้ในระดับนานาชาติ I สุดท้าย คือ Integrity ซึ่งได้แก่ความซื่อสัตย์ ถือคุณธรรมที่ต้องฝังลึกลงในองค์ความรู้ทุกศาสตร์ ทุกสาขาวิชา
สอนออนไลน์เปิดกว้างทุกเจนเนอเรชั่น
ประการที่ 2 ธรรมศาสตร์ยังต้องเป็น Platform คือ Platform for Future Workforce เมื่อโลกทํางานในปัจจุบัน มีคนหลายเจนเนอเรชั่นซึ่งมีค่านิยมและวิธีการทํางานที่ต่างกัน ทําอย่างไรให้ธรรมศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ของคนทุกเจนเนอเรชั่น เช่นถ้าคนจะอายุยืนถึง 100 ปีจริงก็แปลว่าเราอาจไม่เกษียณที่อายุ 60 ปีอีกต่อไป อาจจะทำงานถึง 75-80 ปี คำถามคือความรู้และทักษะที่ได้จากปริญญาตรีอายุ 21-22 ปี เพียงพอให้ทํางานไปอีก 50-60 ปีข้างหน้าหรือไม่
“เราต้องทําให้การกลับมาศึกษาหาความรู้ที่ธรรมศาสตร์ทำได้ง่ายโดยไม่มีอุปสรรคเรื่องสถานที่ เวลา หรือค่าใช้จ่าย ดังนั้นระบบออนไลน์จึงเป็นคําตอบสําคัญ” ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กําลังทํา Gen Next Academy หรือ ธรรมศาสตร์ตลาดวิชา เรียนที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ สะสมหน่วยกิตไว้ถึง 8 ปี นอกจากนี้ยังเปิด 3ปริญญาโทออนไลน์ ทั้ง MBA ด้าน Business & Innovation ปริญญาโทด้าน Big Data และปริญญาโทด้านApplied AI โดยร่วมกับ Startup รุ่นใหม่อย่าง Skilllane
ก้าวสู่ประชาคมวิชาการระดับโลก
ประการที่ 3 ธรรมศาสตร์เป็น Marketplace of Solutions เน้นการวิจัยประยุกต์ (applied research) โดยร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ใช้โจทย์จริงในการเรียนรู้ ตอบโจทย์ทั้งไทย อาเซียนและนานาชาติ มีโปรเจค PTT-Thammasat for Smart City โดย ร่วมมือกับกลุ่ม ปตท.การผลักดันให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์พัทยา เป็นศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ชั้นสูง ภายใต้ “เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษการแพทย์ครบวงจร (EECmd) ธรรมศาสตร์พัทยา”จะมีมูลค่าเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังร่วมมือกับพันธมิตรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน สวทช. และอื่นๆ
ประการที่ 4 ธรรมศาสตร์เป็น Community of World-class Scholars สร้างธรรมศาสตร์ให้เป็นประชาคมนักวิชาการระดับโลก โดยใช้จุดแข็งของไทย จุดแข็งของธรรมศาสตร์ และเงินทุนสนับสนุนจากพันธมิตรในรูปแบบของ Bualuang ASEAN Chair professorship และ Bualuang ASEAN Fellowships ดึงดูดนักวิชาการชั้นนําในศาสตร์ต่างๆ จากทั่วโลก มาทํางานร่วมกันมากกว่า 30 คน ที่จะร่วมกันปักธงธรรมศาสตร์ในเวทีวิชาการระดับโลกต่อไป
ปลูกฝังบัณฑิตจิตวิญญาณประชาธิปไตย
ประการที่ 5 ธรรมศาสตร์เป็น Flagship of Spirit for the People ธรรมศาสตร์ถือกําเนิดขึ้นมาในฐานะ “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน”จะเป็นตัวตนของเราเสมอด้วยจิตวิญญาณ “Democracy, Freedom, and Justice” คนธรรมศาสตร์ “ยึดมั่นในประชาธิปไตย ปกป้องเสรีภาพ และ สู้เพื่อความเป็นธรรม” ปลูกฝังเรื่องนี้ลงใน DNA ของบัณฑิต เราใช้ “ธรรมศาสตร์โมเดล” เป็นแนวทางในการเรียนรู้ ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลระดับโลกด้าน Excellence in Practice จาก EFMD องค์กรที่รับรองมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติแห่งสหภาพยุโรป
“ดิฉันเชื่อมั่นว่า 5 บทบาทของธรรมศาสตร์จะทวีความสําคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกอนาคต ที่มีความหลากหลายทวีคูณแทบทุกมิติ ทั้งเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ความคิด ความเชื่อและค่านิยม”
ดำรงคุณค่าพื้นที่แห่งเสรีภาพทางวิชาการ
รศ.เกศินี กล่าวอีกว่า จิตวิญญาณเพื่อประชาชนจะดำรงอยู่ไม่ว่าจะผ่านไปอีกนานเท่าไหร่ การสนับสนุนให้มีชมรมต่างๆ เปิดกว้างสร้างกิจกรรมเพื่อพัฒนาความคิดอ่าน ทั้งในเรื่อง เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รักษามหาวิทยาลัยให้เป็น “พื้นที่แห่งเสรีภาพทางวิชาการ” เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของนักศึกษาที่อยู่ในวัยแห่งการค้นหา ไขว่คว้า และพัฒนาตัวตน สร้างวัฒนธรรมที่เปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลายเป็นความงาม อดทน อดกลั้นต่อความเห็นที่แตกต่าง
ดังนั้น 85 ปีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปีนี้ คือความภูมิใจใน หน้าที่ Flagship ของประชาธิปไตย Flagship ของการต่อสู้ เคียงข้างและรับใช้ประชาชน ขณะเดียวกันก็ยังดำรงบทบาท ขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยความรู้ การวิจัยและนวัตกรรมต่อไปอย่างเข้มแข็ง ทําให้คําขวัญ “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” เป็นสัจจะที่มั่นคง…เคียงคู่สังคมไทยตลอดไป