[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

ท่ามกลางความบ้าคลั่งของอารยธรรมไซเบอร์ ที่แสดงความคิดเห็นกันอย่างขาดความรับผิดชอบ เกินเลยคำว่าตรวจสอบไปไกลลิบ ราวกับว่าเราอยู่ใน ‘ระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ’..มันเกิดขึ้นได้อย่างไรและเมื่อไหร่สังคมไทยจะเติบโตอย่างแท้จริง??

ยุทธศาสตร์การเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ทุกพรรคขาดไม่ได้เลยก็คือการหาเสียงใน สนามออนไลน์ ซึ่งเป็นพื้นที่เสรีเปิดกว้าง ใครจะปล่อยข่าวลวงข่าวจริง ข่าวหาเสียงและทำลายชื่อเสียงฝ่ายตรงข้าม ก็ทำได้สบายๆ นำทางมาสู่กระบวนการจัดตั้ง กองกำลังไซเบอร์ ขึ้นในทุกๆ องคาพยพทางการเมือง ก่อนวันพิพากษา 24 มีนาคม 2562

ขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลัก ซึ่งเคยเลือกข้างกันไปแล้วแบบห้ามยังไงก็ไม่ฟัง ตั้งแต่ยุคทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เสื้อแดง-เสื้อเหลือง ทั้งหมดยังคงเปย์ฝ่ายของตัวเองไม่เปลี่ยน…แต่ที่น่าแปลกคือสื่อสมัยใหม่สำนักข่าวออนไลน์ ทั้งหลาย ความหวัง ของคนหนุ่มสาวที่อยากเห็นความเป็นกลาง ก็กลับใช้แนวทางหรือพฤติการณ์ไม่แตกต่างกับสื่อหลัก…นั่นคือเลือกเชียร์พรรคที่ตนเองสนับสนุนอย่างออกหน้าออกตาและกดหัวอีกฝ่ายให้จมธรณี

ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าพรรคการเมืองใดไม่มีสำนักข่าวออนไลน์ค่ายใหญ่ๆ ให้การสนับสนุนจุนเจือล่ะก็ พวกเขาก็ต้องหลังพิงฝา สร้างสำนักข่าวออนไลน์ของตัวเองขึ้นมาลับๆ แบบอยู่ เบื้องหลัง เพื่อเชื่อมต่อการทำงานกับหน้าฉาก หรือไม่ก็ใช้เงินซื้อโฆษณากันไปตามแต่งบประมาณในกระเป๋าจะเอื้ออำนวย

ส่วนพรรคการเมืองใดที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมากหน่อย หรือมีพลพรรคพวกตัวเอง ฝังตัว ในโลกไซเบอร์เยอะกว่า ก็จะถือว่าได้เปรียบเพราะถือว่าอยู่ บนดิน สามารถปลุกปั่นกระแสทั้งในเว็บไซต์ เพจ FB และทวิตเตอร์ หัวหมู่ทะลวงฟันผ่านแฮชแท็คต่างๆ ดาหน้าถล่มฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเมามัน

เรียกว่าสนามออนไลน์ไล่ถล่มกันดุเดือดแบบใครดีใครอยู่….

คนที่ถูกรุมกินโต๊ะในโลกโซเชียลมีเดียมากที่สุด ก็ดูเหมือนจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่สนับสนุนลุงตู่เป็นนายกรัฐมนตรี ถูกมองว่าสนับสนุนการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และพลพรรคที่ดูจะไปได้สวยที่สุดในโลกไซเบอร์ เพราะมีฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ผู้รักประชาธิปไตยโดยเฉพาะใน ทวิตเตอร์ก็คือพรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทย

ลึกๆ แล้ว พปชร. จึงถูกโดดเดี่ยวเหมือนหมาจนตรอก เพราะประชาธิปัตย์ก็บอกว่าไม่เอา ภูมิใจไทยก็ไม่อยากปฏิสัมพันธ์ด้วย แต่มีธงความได้เปรียบตรงถือ คบเพลิงอาญาสิทธิ์ จากการเป็นรัฐบาลคสช. สามารถใช้ไฟจากสปอตไลต์ทางอำนาจ ส่องจุดนั้นจุดนี้ได้หมดหรือจะแอบสร้าง Sky Net เอาไว้ใต้พรมก็ไม่มีใครรู้ 

นี่เอง ถือเป็น จุดกำเนิด กองกำลังไซเบอร์ของพรรคพลังประชารัฐ โดยมีจุดเปลี่ยนอยู่ที่การเปลี่ยนตัวโฆษกรัฐบาลจาก พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด ขุนพลคู่ใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นบีพุทธิพงษ์ปุณณกันต์ อดีตขุนพลพรรคประชาธิปัตย์และกปปส. ที่ย้ายค่ายมาอยู่กับพลังประชารัฐ ด้วยตำแหน่งสำคัญคือเป็นปากเสียงและวางยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ให้รัฐบาลลุงตู่เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561

การมาของ พุทธิพงษ์ เกิดจากการชักนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและผู้ก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ ตอนนั้นยังไม่มีใครคิดว่านี่จะเป็นการปูทางไปสู่การสร้างแคมเปญพีอาร์เชิงกว้างและเชิงลึก ที่ผลักดันให้พปชร.สู้ศึกจนชนะเสียงป็อบปูลาร์โหวต เฉียดๆ 8 ล้านคะแนนทั่วประเทศ ถล่มพรรคคู่แข่งสำคัญคือเพื่อไทยจนทลายหงายเก๋ง แต่ก็อาจไม่พอที่จะหยุดการจุดประกายก่อกำเนิดพรรคอนาคตใหม่ได้เช่นกัน

ยุทธวิธีการต่อสู้ของพลังประชารัฐที่ถูกมองว่าเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมใหม่นั้น…ไม่ธรรมดา อาศัยแรงส่งของนโยบายรัฐบาลที่โดนใจประชาชนอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงสปก.ทองคำเจาะฐานเสียงในต่างจังหวัด สองคือใช้ความนิยมส่วนตัวของลุงตู่และความเกลียดกลัวระบอบทักษิณจะกลับมา เจาะฐานเสียงในหัวเมืองใหญ่ๆ

ยุทธวิธีถัดมา คือมีการตั้ง ขุนพลไซเบอร์ขึ้นโดยระดมเครือข่ายจากยอดฝีมือที่เชื่อใจกัน มั่นใจกัน ศรัทธากัน เป็นแกนประมาณ 10-20 คน ทั้งหมดล้วนเป็นนักรบนิรนามผู้เคยฝากฝีมือการปลุกปั้นยอดไลค์รัวๆ ไว้ในสื่อออนไลน์ สื่อโซเชียล และสื่อกระแสหลักมาแล้ว ลิงค์เชื่อมต่อการทำงานเป็นทีมกับสื่อของพรรคพลังประชารัฐโดยตรง ลงตัวและไร้ร่องรอย

แคมเปญต่างๆ ไล่เรียงกันมาตั้งแต่เพจลุงตู่ Official ที่แตกลูกแตกหลานไปมากมาย ทั้งสู้ ทั้งสอย ทั้งถอย ทั้งถีบ พลิกมุมต่อกรได้อย่างแยบยลและเชี่ยวชาญในสนามโซเชียลมีเดีย บวกกับการที่พรรคพลังประชารัฐได้คนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทีมมากมายเช่น มาดามเดียร์ ฯลฯ ก็เป็นแรงขับเคลื่อนให้การเลื่อนไหลในโลกไซเบอร์ไม่ได้มีตัวเอกแค่ลุงตู่คนเดียวโดดๆ แต่เพิ่มตัวเล่นได้มากขึ้น เจาะฐานเสียงได้หลากหลาย

ในส่วนของโลกไซเบอร์ที่สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่และเพื่อไทย ก็ใช้ยุทธวิธีโจมตีใน ‘ทวิตเตอร์’ เป็นหลัก เพราะเป็นสนามรบที่คนรุ่นใหม่และคนชั้นกลางฟีเวอร์ นิยมเข้าไปเล่นกันมากที่สุด ส่วนเฟสบุ๊กถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของคนชราไปแล้ว ไม่มันส์ จึงจะเห็นแฮชแทคทวิตว่า #ฟ้ารักพ่อ #ยุบให้ตายก็ไม่เลือกลุง #จับปากกาฆ่าเผด็จการ ไปกระทั่งล่าสุด #โกงเลือกตั้ง ถูกผลักดันจนติดเทรนด์ทวิตนับแสนครั้ง นับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งจนถึงวันนี้

มายาภาพนี้ ทำให้หลายคนประเมินว่าโอกาสที่พลังประชารัฐจะพ่ายแพ้ต่อกระแสโลกใหม่ที่เกิดขึ้นมีสูงมากทีเดียว

แต่ความมันส์อยู่ที่การ พลิกเกม โค้งสุดท้าย เมื่อทีมขุนพลไซเบอร์ของพลังประชารัฐตัดสินใจเสนอแก้เกมด้วยการเปลี่ยนลุค ลุงตู่ให้ดูสบายๆ แล้วเข้าสู่สนามการส่ง ‘Line’ อีกระบบโซเชียลมีเดียที่ปริมาณผู้ใช้ในประเทศไทยถึง 42 ล้านคน กระจายอยู่ทุกช่วงอายุ สูงมากเมื่อเทียบกับยอดผู้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตของบ้านเราทั้งหมด 45 ล้านคน

ขณะที่ทวิตเตอร์ในประเทศไทยมียอดผู้ใช้เฉียดๆ 20 ล้านคน ส่วนใหญ่คือคนรุ่นใหม่และวัยทำงานอายุ 16-34 ปี แต่ความนิยมเล่นก็สูงขึ้นทุกปีเช่นกัน

กล่าวได้ว่า สองก๊ก สองค่าย ต่างหาเสียงกันคนละจุดมุ่งหมาย คนละสนาม สู้กับคนละยุทธวิธี บี้กันอย่างเมามันเพื่อให้แต่ละเจเนอเรชั่นเลือกข้าง ด้วยวาทกรรมต่างๆ นาๆ ข่าวจริงบ้าง แก้ข่าวบ้าง เอาเรื่องเก่าๆ มาจุดพลุบ้าง ตามแต่จะปรารถนากันไป

แต่สุดท้ายดูเหมือนว่าฝ่ายพลังประชารัฐจะเป็นผู้ชนะในเกมนี้ โดยเฉพาะการใช้หมัดเด็ดที่เข้าอกเข้าใจคนไทยที่เล่นไลน์ คือการใช้ภาพน่ารักๆ ของลุงตู่มาทักทายคนไทยตอนเช้าๆ เช่น สวัสดีวันจันทร์ ขอให้จันทร์โอชา สวัสดีวันเสาร์ เราจะทำตามสัญญาหรือ อรุณสวัสดิ์เช้าวันพุธ แล้วก็มีภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ขยับไทด์ในเชิ้ตขาว

จากไลน์ของเพื่อนคนหนึ่ง ค่อยๆ ทยอยส่งกันเป็นกลุ่มๆ กลายเป็นเครือข่ายในเมือง สู่หัวเมือง สู่พ่อค้าแม่ขายในต่างจังหวัด สู่ครูประชาบาล ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ไปจนถึงต่างประเทศ นับเป็นการหาเสียงที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนไทยในภาพรวมมากกว่า แตกต่างจากทวิตเตอร์ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มปัญญาชนและคนเจอเนเรชั่นใหม่ที่อาจมีสัดส่วนที่น้อยกว่าเท่าตัว

นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมกระแสทวิตแรงเหลือหลาย แต่ผลคะแนนที่ออกมากลับไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้ เมื่อพรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนดิบมากที่สุด แต่จำนวนส.ส.เขตน้อยกว่าเพื่อไทย นำมาสู่ความ หัวฟัดหัวเหวี่ยง ของคนรุ่นใหม่และคนชั้นกลางจำนวนมากที่รู้สึกว่าตัวเองพลาดหวัง พวกเขา ตีอกชกตัวเพราะถูกตอกย้ำมาตลอดว่าต้องเอาชนะเผด็จการให้ได้ โดยหลงลืมถึงเจตนารมณ์ของระบอบประชาธิปไตย ลืมเป้าหมายที่เคยอยากให้มีการเลือกตั้งเพื่อรีสตาร์ทประเทศไทย และควรเคารพทุกๆ เสียงของคนไทย เพราะชีวิตเรา แม้จะยากดีมีจนอย่างไรล้วนมีสิทธิมีเสียงเท่าเทียมกัน

ทวิตเตอร์ที่ว่าแน่ๆ จึงพ่ายแพ้ต่อสติ๊กเกอร์สวัสดีวันจันทร์ด้วยประการฉะนี้ ที่สำคัญคืออย่าให้จิตวิญญาณประชาธิปไตยต้องดับสูญไปด้วย โดยใช้อารมณ์บ่มเพาะความเกลียดชัง เหยียดหยามคนที่เห็นต่าง ทำลายหลักการที่เคยตอกย้ำเอาไว้ตลอดมาและอย่าให้ใครมาบอกว่านี่คือประชาธิปไตยที่ไร้วุฒิภาวะ