พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ลำดับที่ 29 โดยดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศตั้งแต่ปี 2557 โดยรัฐบาลมีวิสัยทัศน์การบริหารภายใต้สโลแกน ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ พาคนไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง แก้ปัญหาการคอร์รัปชัน ส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีและนวัตกรรมเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่ยุค 4.0 ควบคู่ไปกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุนของต่างชาติ ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่โดดเด่น คือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC)
นายทองลุน สีสุลิดนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ในวัย 73 ปี ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2559 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ตั้งเป้านำพา สปป.ลาว หลุดพ้นความยากจนในปี 2563 พร้อมผลักดันสู่การเป็นประเทศที่มีความทันสมัย โดยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเปิดกว้างเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ, ส่งเสริมการท่องเที่ยวและกำจัดจุดอ่อนต่างๆ อาทิ การห้ามส่งออกไม้เพื่อลดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและจัดระบบการเก็บภาษีเพื่ออุดรอยรั่วการคอร์รัปชัน ทำให้การจัดเก็บรายรับเข้างบประมาณได้มากเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้นายทองลุนได้รับความนิยมจากประชาชนสูงขึ้น
สมเด็จฯ ฮุน เซนนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ผู้นำหลายสมัยในวัย 66 ปี อดีตนายทหารที่ก้าวสู่เส้นทางการเมืองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก่อนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2528 ด้วยวัยเพียง 33 ปี นับเป็นผู้นำที่อายุน้อยและอยู่ในเก้าอี้ยาวนานที่สุดในโลกกว่า 30 ปี โดยมีบทบาทสำคัญช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจกัมพูชาหลังวิกฤตการเมืองในประเทศสิ้นสุดลง สมเด็จฯ ฮุน เซน มีฐานเสียงประชาชนในระดับล่างค่อนข้างมาก แม้ถูกต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์ถึงนโยบายการบริหารประเทศแต่ก็ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุดและสามารถอยู่ในตำแหน่งได้จนถึงปัจจุบัน
นายเหวียน ฝู จ่อง ประธานาธิบดีคนที่ 9 ของประเทศเวียดนาม ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2561 โดยเป็นผู้นำคนแรกของเวียดนามที่ดำรงตำแหน่งสำคัญควบคู่กัน คือ ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ สานต่อแนวนโยบายขับเคลื่อน ‘ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ’ ของเวียดนามที่เติบโตเฉลี่ยช่วง 5 ปี (2559-2563) ตั้งเป้าเป็นประเทศอุตสาหกรรม (industrialized country) ในปี 2563 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ร้อยละ 5 – 7 ต่อปี เขายังโดดเด่นในฐานะผู้นำการปราบปรามคอร์รัปชัน การสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ และตั้งเป้าหมายให้เวียดนามเป็นประเทศมหาอำนาจด้านการผลิต (Manufacturing powerhouse)
นายวิน–มยิน ประธานาธิบดีเมียนมา ขึ้นดำรงตำแหน่งช่วงเดือนมีนาคม 2561 แทนนาย ถิ่น จ่อ ที่ลาออกจากตำแหน่งผู้นำไปเนื่องจากปัญหาสุขภาพ เขาเป็นอดีตสมาชิกผู้แทนราษฏรในนามของพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ผันตัวจากนักกฎหมายมืออาชีพก่อนก้าวสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัว และเป็นหนึ่งในคนสนิทของ นางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สานต่อแนวนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และกฎหมายที่ทันสมัย แม้อำนาจการบริหารที่แท้จริงยังขึ้นอยู่กับนางออง ซาน ซู จี เป็นหลักก็ตาม
ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย วัย 93 ปี เป็นผู้นำที่มีอายุมากที่สุดในโลก ชีวิตพลิกผันจากอดีตนายแพทย์สู่แวดวงการเมือง ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎร ครองเก้าอี้รัฐมนตรีหลายกระทรวงและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานกว่า 20 ปีนับจากปี 2524-2546โดยบทบาทสำคัญ คือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนนำประเทศผ่านวิกฤตการเงิน ‘ต้มยำกุ้ง’ เมื่อปี 2540 และได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของมาเลเซียผู้วางรากฐานการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เขาเว้นวรรคทางการเมืองไป 10 ปี ก่อนกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้ง และคว้าชัยเหนือคู่ปรับอย่างนายนาจิบ ราซัค เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561
สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ทรงเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีองค์ที่ 29 แห่งบรูไนและนายกรัฐมนตรี ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก มีพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองราชสมบัติครบ 50 ปี ไปเมื่อปี 2560 แม้มีอำนาจเด็ดขาดแต่พระองค์เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงและนำประเทศไปสู่ยุคสมัยใหม่ โดยนำผู้มีวิสัยทัศน์และความสามารถมาดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล ทรงได้รับความชื่นชมจากประชาชนอย่างกว้างขวางจากระบบสวัสดิการต่างๆ ที่สร้างคุณภาพชีวิต เสถียรภาพและความปลอดภัยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี
นายโรดรีโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของฟิลิปปินส์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2559 ด้วยวัย 72 ปี อดีตนายกเทศมนตรีเมืองดาเวานานกว่า 20 ปี ได้รับฉายาว่า “ดูแตร์เต แฮร์รี” เพราะมีบุคลิกเด็ดเดี่ยวแบบเดียวกับพระเอกในเรื่อง Dirty Harry จากนโยบายปราบปรามอาชญากรในเมืองดาเวาจนทำให้สถิติอาชญากรรมต่ำที่สุดในฟิลิปปินส์ ภายหลังเมื่อได้รับตำแหน่งประธานาธิบดี เขาประกาศนโยบายทำสงครามกับยาเสพติด แม้จะถูกโจมตีอย่างหนักจากองค์กรสิทธิมนุษยชน แต่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน นอกจากนั้นเขายังหันเหนโยบายต่างประเทศจากพึ่งพาสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก มาเชื่อมสัมพันธ์กับจีนซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งในประเด็นทะเลจีนใต้ ขณะที่ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ ปี 2562 จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 4
โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียอดีตนายกเทศมนตรีกรุงจาการ์ตา ผู้ได้รับฉายา ‘โอบามาแห่งอินโดนีเซีย’ จากบุคลิกที่ติดดินเชื่อมโยงกับประชาชนระดับฐานราก เชิดชูระบอบประชาธิปไตย ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจและการศึกษา ทำให้โจโกวีชนะการเลือกตั้งผู้นำสมัยที่ 2เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากนโยบายที่เห็นผลเป็นรูปธรรม ทำให้เขาจะดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557-2567 ขณะที่ประชากรในประเทศมีมากถึง 260 ล้านคน ทำให้อินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ที่ได้รับความสนใจลงทุนทั่วโลก โดยโจโกวีตั้งเป้าพัฒนาประเทศให้จีดีพีเติบโตสูงถึงร้อยละ 7 และสร้างงานอีก 100 ล้านตำแหน่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า