เมืองพัทยาจะไม่ใช่แค่ ‘แหล่งท่องเที่ยว’ ตามแนวชายหาดอีกต่อไป เมื่อหน่วยงานภาครัฐกำลังยกระดับสู่ ‘สมาร์ทซิตี้’ ที่มีมาตรฐานการใช้ชีวิตและการทำงานที่เป็นสากล เทียบระดับชั้นแนวหน้าของโลก
เมืองพัทยาได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการความรู้ เทคโนโลยีเชิงพื้นที่ และประสบการณ์การบริหารงานด้วยศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นีโอพัทยา (NEO Pattaya) สู่การเป็น “เมืองพัทยา สมาร์ทซิตี้” (Pattaya Smart City) โดยศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคตะวันออก (ศทอภอ.) คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จะพัฒนาศูนย์ข้อมูลภูมิสารสนเทศขนาดใหญ่ (Big Geospatial Data Center) และการพัฒนาแผนแม่บทเมืองพัทยาสู่ยุคดิจิทัล 4.0 (Digital Transformation) เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการเมืองพัทยา ในด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากร-สิ่งแวดล้อม ด้านวัฒนธรรม ด้านการบริหาร และการลงทุนของโลก
นายกฤษนัยน์ เจริญจิตร ผู้อำนวยการ ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า การลงนามในเอ็มโอยูครั้งนี้ จะนำไปสู่การส่งเสริมและสนับสนุนการใช้วิทยาการอวกาศและภูมิสารสนเทศ พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อม ความสามารถ และมีคุณลักษณะสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ หรือเป็นนักนวัตกรรมตามแนวทางอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่อีอีซี โดยการสร้างความร่วมมือทางวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรม ที่จะดึงผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และมหาวิทยาลัยอู่ฮั่นจากจีนเข้ามาร่วม
ทั้งนี้ การพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศของเมืองพัทยาจะสอดรับกับระบบสารสนเทศของอีอีซี ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้พัทยาสามารถบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนและธุรกิจ เช่น โครงการ Bangsaen Innovation District ที่ใช้ระบบสารสนเทศมาตรวจวัดความสุข-ความทุกข์ของประชาชนในบางแสน ทำให้ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ความร่วมมือนี้มีความสำคัญอย่างสูงต่อการพัฒนาเมืองพัทยา เนื่องจากพัทยายังขาดระบบจัดเก็บและประมวลข้อมูลข่าวสารที่จะรองรับการพัฒนา “อีอีซี” และ “สมาร์ท ซิตี้” อย่างกรณี นํ้าท่วมหลังฝนตกหนัก จะทราบเฉพาะเมื่อนํ้ามาอยู่บนถนน ในบ้าน แต่เส้นทางจากต้นทางของนํ้าความลาดชันเป็นอย่างไร จะดักนํ้าได้ที่ไหนบ้าง ไม่มีข้อมูลพอ และสิ่งเหล่านี้ เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยได้ ตลอดไปจนถึงการมีข้อมูลเพื่อวางแผน ทั้งสังคม สาธารณสุข และอื่นๆ อีกหลายด้าน
“ชลบุรีและพัทยาเป็นเป้าหมายหนึ่งที่จะมีประชากรเพิ่มขึ้น เพราะเป็นศูนย์กลางของอีอีซี และถ้าไม่เตรียมความพร้อมและเพิ่มประสิทธิภาพ จะกลายเป็นความแออัด มลภาวะ และปัญหาทางสังคมต่างๆ ตามมา จนศักยภาพที่มีอยู่เสียหายไป”
นายอภิชาต ทองอยู่ ที่ปรึกษาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในอีอีซี กล่าวว่า ปัจจุบัน การพัฒนาบุคลากรรองรับอนาคตของอีอีซีมีความก้าวหน้าไปมาก ดังนั้น การมีระบบสารสนเทศที่ดีจะยิ่งทำให้พัทยามีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น
“เราเริ่มพัฒนาบุคลากรให้ตรงความต้องการของธุรกิจสาขาต่างๆ โดยมีบริษัทระหว่างประเทศเข้ามาร่วมมือมากมาย แต่ถ้าภาพรวมของพื้นที่ไม่เอื้ออำนวย พัทยาก็จะเสียโอกาสให้แก่เมืองอื่นอย่างน่าเสียดาย ฉะนั้น การพัฒนาภูมิสารสนเทศครั้งนี้เป็นการริเริ่มที่ดีมาก มีโอกาสดีที่จะพัฒนาไปเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของโลก ตามแนวทาง Neo Pattaya”