ซีอีโอรุ่นใหม่ในวัยเพียง 23 ปี ผู้บุกเบิกภารกิจ สร้างระบบ GPS Tracking ที่ล้ำสุดแห่งหนึ่งในวงการ บริษัทที่เขาพัฒนาขึ้นเพราะอยากรักษาเวลาอันมีค่าให้ลูกค้าและตอบสนองวิถีชีวิตคนยุคปัจจุบันด้วยโซลูชั่นภายใต้แบรนด์ที่ชื่อ ‘Waylar Tech’
ถ้านั่งไทม์แมชชีนกลับไปซัก 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครเชื่อว่าเด็กหนุ่มที่เพิ่งจบ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ สถาบันนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แบบหมาดๆ คนนี้ ยังติดอยู่ในเหมืองแร่ดีบุกซึ่งล้อมรอบไปด้วยป่าเขาลำเนาไพรในจังหวัดนครศรีธรรมราช ธุรกิจเก่าแก่ของครอบครัวซึ่งดำเนินการมาถึง 40 ปี
มาถึง ณ วันนี้ ‘พันชนะ ตันติพิสุทธ์’ หรือ ‘ปาล์ม’ ก้าวขึ้นมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Waylar Tech เจ้าของโซลูชั่นชั้นนำ ผู้จำหน่ายฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ ให้กับผู้ใช้รถทุกประเภท ที่ต้องการระบบติดตามแบบ Real Time สร้างความสะดวกสบาย สามารถนั่งอยู่ที่กรุงเทพแล้วมอนิเตอร์ได้ว่ารถบรรทุกสินค้าไปถึงปลายทางแล้วหรือยัง? หรือของในสต็อคถูกยกไปส่งสาขาลูกค้าได้ตรงเวลาหรือไม่?
“ผมเริ่มต้นจากระบบ Fleet Management หรือที่รู้จักกันในชื่อ GPS Tracking ครอบคลุมลูกค้ากลุ่มโลจิสติกส์มาก่อน ซึ่งเมื่อกรมขนส่งทางบก ออกกฏหมายบังคับติดตั้งอุปกรณ์ติดตามยานพาหนะประเภทต่างๆ ก็ช่วยทำให้บริษัทสร้างฐานลูกค้าได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากนี้เราจะต่อยอดระบบ Waylar Flow เพื่อใช้งานควบคู่กับระบบและอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) อื่นๆ ได้อีกด้วย”
ปัจจุบัน ลูกค้า Waylar Tech สัดส่วน 70-80% เป็นกลุ่มบริษัทโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม รองมาคือธุรกิจ โลจีสติกส์ คอนสตรัคชั่น เช่น รถสิบล้อ ปิ๊กอัพ และกลุ่มค้าปลีกเช่นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่ส่งสินค้าระหว่างเมือง รวมถึงรถเซลล์วิ่งบริการลูกค้าในจังหวัดต่างๆ ที่เหลืออีก 20% เป็นรถยนต์ส่วนบุคคลและจิปาถะต่างๆ อย่าง รถพยาบาล รถตู้ รถเช่า ฯลฯ
มิใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เครือข่าย Waylar Tech ครอบคลุมข้าพรมแดนไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน CLMV เพราะเทคโนโลยีมีความละเอียดสูง ควบคู่กับรูปแบบให้บริการที่กว้างไกล ตอบโจทย์ลูกค้าผู้ส่งออก นำเข้า และเจ้าของกิจการซึ่งมี ไลฟ์สไตล์ หรือความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละสาขาธุรกิจ
ชีวิตที่เหมือนเส้นกราฟพร้อมทะยาน
ในปี 2561 ปาล์มตั้งเป้ายอดขาย Waylar Tech ทั้งระบบซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์รวมๆ แล้วแตะ 100 ล้านบาท นับเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่ได้บ่อยครั้งนักสำหรับบริษัทที่เพิ่งตั้งมาได้เพียง 1 ปี!!
ไม่ว่าเราจะนิยามคำว่านี่คือจังหวะดี เขามีวิสัยทัศน์ หรือโชคช่วย แต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะนิยามหนุ่มรุ่นใหม่คนนี้อย่างตรงไปตรงมา ก็คือเขามี Passion ในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างไม่หยุดนิ่ง ปาล์มทำงานตลอด 7 วัน คิดโซลูชั่นใหม่ๆ ตลอดเวลา เมื่อลูกค้ามีปัญหาเขากล้าไปพบด้วยตนเอง
“ผู้บริหาร Tata Communications เคยบินมาคุยกับผมที่กรุงเทพช่วงนั้นจำได้ว่าเป็นเทศกาลคริสมาสต์พอดี เขาถามว่าเอาอย่างนี้มั้ย ถ้า Waylar Tech ทำยอดขายได้ 2,000-5,000 ชิพภายในสองไตรมาส เราค่อยมาตกลงกัน จำได้ว่าหลังปีใหม่แค่สองสัปดาห์ผมทำยอดที่เขาพูดถึงสำเร็จแล้ว ตอนนี้กำลังวางแผนว่าจะดำเนินการร่วมกันต่อไปอย่างไร”
ปาล์ม พันชนะ เปรียบชีวิตของเขาเหมือน เส้นกราฟ ถ้าจะพุ่งถึงจุดสูงสุดได้ ก็ต้องดรอปลงมาก่อน เขาจึงมีแรง Take off ทะยานขึ้นไป นั่นคือแนวทางของเขาหากทำอะไรต้องรู้จริง ทุ่มสุดตัว และใช้เวลาเรียนรู้อย่างถ่องแท้ มิใช่เพื่อไขว่คว้าแต่…นี่คือความท้าทาย
จากเด็กโรงเรียนนานาชาติสู่ ม.ธรรมศาสตร์
วัยเด็กของเขาผ่านระบบการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติในจังหวัดภูเก็ต เป็นช่วงเวลาแห่งการทดสอบตัวเองครั้งสำคัญ เพราะยอมรับว่าเรียนไม่เก่งและเมื่อเข้าไปเรียนก็มีปัญหาภาษาอังกฤษที่ด้อยกว่าเพื่อนๆ ก่อนเขาจะฮึดสู้ จนสามารถสอบผ่านมาได้อย่างน่าพอใจ
“ธุรกิจที่บ้านผม หลักๆ คือเหมืองแร่และมีธุรกิจอื่นๆ พวกอสังหาริมทรัพย์ ผมจึงเห็นภาพตัวเองเป็นวิศวกรกับนักบริหาร สองภาพนี้อยู่ในหัวตลอด เมื่อโรงเรียนนานาชาติเปิดให้เราลงเรียนวิชาที่ชอบได้ ผมก็เลือกเรียนทางบิสซิเนส เพื่อค้นหาตัวเองให้เจอ”
ระหว่างเรียน เขายังส่งใบสมัครของตนเองไปยังมหาวิทยาลัย MIT สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการเรียนด้านวิศวกรรมที่ดีสุดของโลก คำตอบที่ปาล์มได้กลับมา ไม่ใช่รับหรือปฏิเสธ แต่ MIT อีเมล์ว่า “คุณควรสอบคะแนน SAT กับ TOEFL ให้ได้ก่อน”
ในระหว่างรอยต่อของชีวิตวัยเรียนและเข้าสู่มหาวิทยาลัย ธุรกิจที่บ้านก็กำลังคิกออฟเหมืองแห่งใหม่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เขาจึงเลือกอยู่ที่เมืองไทย เพราะน่าจะมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ทำธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้น จึงเลือกศึกษาต่อที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และใช้ชีวิตด้วยความสมดุลระหว่างการเรียนและกิจกรรม
“ช่วงที่ผมเรียนวิศวะก็อยากทดสอบตัวเองว่าเราจะ Adapt ความรู้ไปสู่สาขาอื่นๆ ได้หรือไม่ เลยลองไปสมัครทำงานสายไฟแนนซ์ที่ธนาคารต่างประเทศ ปรากฎว่าผ่านเข้ารอบสุดท้าย 6 คน ผู้สมัครส่วนใหญ่จบสายเศรษฐศาสตร์และบริหารหมด มีผมคนเดียวครับที่นอกคอกมาจากวิศวะ”
ประสบการณ์วางระบบธุรกิจในเหมืองแร่ดีบุก
การรับภารกิจครอบครัวดูแล เหมืองแร่ดีบุก เป็นเรื่องหนักเอาการ ซึ่งปาล์มบอกว่า ชีวิตจริงยิ่งกว่าในหนัง “มหาลัยเหมืองแร่” ซะอีก เพราะรับผิดชอบตั้งแต่หน้างาน ขับรถแทร็คเตอร์ แบคโฮ ไปจนถึงทำเอกสารทางบัญชีและการเงิน น้ำที่ใช้อาบก็สนิมเขอระขระ จนผิวแทบเป็นสีน้ำตาล ส่วนเซเว่นอีเลฟเว่นถ้าอยากจะไปก็ใช้เวลาเป็นชั่วโมง
“ผมไม่ได้เข้าไปในตำแหน่งเจ้าของธุรกิจ แต่เป็นพนักงานคนหนึ่งครับ จริงๆ ที่บ้านไม่ได้คาดหวังว่าต้องไปช่วยขนาดนั้น อยากให้เราดูแลฝ่ายการเงินมากกว่า แต่ผมอยากรู้จักงานจริๆ ก็เลยเริ่มเดินตามหลังยาม ได้อะไรเยอะมาก บางคนบอกเสียศักดิ์ศรี แต่ผมคิดว่าข้อดีคือเราได้รู้พื้นที่ทั้งหมด เข้าถึงชาวบ้านมากขึ้น ผมมองเนื้องานหมืองว่าอะไรสำคัญ ก็ใช้เวลากับมันมาก กว่าจะได้นอนเที่ยงคืน ตีสี่ต้องตื่นแล้ว”
ในช่วงที่ปาล์มเริ่มเดินเครื่องเหมืองแร่ สังคมไทยก็กำลังวุ่นๆ กับปัญหาสิ่งแวดล้อมกรณี บริษัท อัคราไมนิ่ง ทำให้เขายิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA อย่างมาก ทุกเช้าต้องเช็คทุกสิ่งว่าปลอดภัยหรือไม่ เพราะเหมืองแร่ดีบุกต้องใช้น้ำปริมาณมากและเป็นระบบปิด จึงต้องการดูแลไม่ให้เกิดการรั่วไหลหรือถูกมองในแง่ลบ “Close System เป็นระบบที่ยากมาก แต่เราก็ทำได้ครับ”
ในการขุดแร่ขึ้นมาต้องใช้รถสิบล้อวิ่งตลอดทั้งวัน ปาล์มสั่งซื้อรถบรรทุกจากหลายดีลเลอร์ แต่ละเจ้าก็จะแถมเครื่องรูดบัตรที่ติดกับ GPS ด้วย ซึ่งก็มีประโยชน์ในแง่ของการเช็คเวลาทำงานของคนงาน แต่ปัญหาคือระบบยังไม่เสถียรเท่าที่ควร เวลาแทร็คกิ้งก็เห็นเป็นพื้นที่ขาวๆ ไม่รู้ว่ารถอยู่ตรงไหน หรือบางทีสัญญาณของขาดหายไปบ้าง เมื่อไปนานๆ ก็คิดว่าน่าจะมีโซลูชั่นอื่นๆ เช่น เครื่องรูดบัตรควรมีระบบเพย์โรลด้วย
รวมทั้งสามารถมอนิเตอร์แบบ Real Time เพราะการขุดหน้าดินจะเป็นเหมือนแซนด์วิช คือเป็นชั้นๆ จากดินเป็นแร่ดีบุกและดินสลับไปอย่างนี้ แต่รถแบคโฮพอตักไปแล้ว บางทีคนขับก็สับสนเอาแร่ไปทิ้งเพราะนึกว่าดินบ้าง เราประเมินความเสียหายจากรถคันนึงประมาณสองหมื่นบาท
“ผมเริ่มเห็นประโยชน์ของมันแล้วว่าต่อยอด GPS ได้ ก็ถามเลยว่าเราพร้อมลงทุน แต่ไม่มีเจ้าไหนทำให้ จึงตัดสินใจถามบริษัทต่างประเทศว่าจะทำได้หรือไม่ คำตอบคือได้แต่ไม่ทันใจ เพราะกว่าจะศึกษาอีกนาน”
เพราะเวลาทุกคนมีค่า…เริ่มตั้งบริษัท Waylar Tech
ทางเลือกที่ต้องตัดสินใจมี 2 วิธี คือจ้างโปรแกรมเมอร์มาทำงานในเหมืองซึ่งยากมาก ไม่มีใครอยู่ในป่าเขา หรือไม่ก็ตั้ง ‘บริษัทลูก’ มาเอาท์ซอร์สงานออกไปเลย จึงเกิด Waylar Tech ขึ้น มุ่งหวังการสร้างเวลาให้ตัวเองและพนักงาน เพื่อทุกคนได้มีเวลามากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่เพียงตอบสนองธุรกิจเหมืองแร่ แต่ยังประโยชน์กับธุรกิจอื่นๆ ด้วย
“ผมไม่จำเป็นต้องอยู่หน้างานตลอดเวลาแล้ว เพราะสามารถเปิดจอดูได้เลยว่ารถอยู่ไหน ใครทำอะไร ได้เท่าไหร่ เรารู้หมด พอเริ่มประสบความสำเร็จตรงนี้ จึงขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ของที่บ้านด้วย เช่น อสังหาริมทรัพย์ โรงเรียน เนอร์สซิ่งโฮม แล้วก็ลองให้เพื่อนๆ ใช้ ต่อมาจึงมีคำถามกลับมาว่า ทำไมไม่ทำ Waylar Tech ให้เป็นธุรกิจเลยล่ะ”
ปัจจุบัน Waylar Tech ให้บริการระบบ GPS Tracking สำหรับบริหารจัดการระบบโลจีสติกส์ ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก แบบครบวงจร มีทีมงานตั้งแต่ R&D พัฒนา Hardware และ Software พร้อมทั้งมีบริษัทในเครือให้บริการหลังการขายและบริการติดตั้งอุปกรณ์ จนถึงมีเครือข่ายคู่ค้าทางธุรกิจรับผิดชอบ Direct Sales ด้วย
“เราจับมือกับโรงงานผลิต GPS Tracker ที่ยุโรปและนำเข้าอุปกรณ์ มาเป็นรายแรกๆ ขณะที่หลายๆ แบรนด์ยังนำเข้าอุปกรณ์มาจากจีนหรือประกอบเองในประเทศ และนำเข้าซอฟแวร์มาแปลภาษา ทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้ต่อเนื่อง ขณะที่ Waylar Tech ของเรามีทีมพัฒนาระบบ fleet management ด้วยตัวเอง จึงสามารถแก้ปัญหา ตอบโจทย์ลูกค้าได้”
ผนึกกำลังพันธมิตรขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น Waylar Tech ยังร่วมกับบริษัทโทรคมนาคมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับ Cloud Server รวมถึงความร่วมมือกับ AIS บริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พร้อมคลื่นสัญญาณที่ครอบคลุมมากที่สุด
การจับมือกับ Tata Communications ภายใต้ Tata Group เพื่อพัฒนาโครงข่ายแบบ MVNO ในประเทศไทย เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์หรือโซลูชั่น สามารถเชื่อมต่อได้กับทุกโครงข่ายกว่า 600 โครงข่ายใน 200 กว่าประเทศ โดยอุปกรณ์จะเชื่อมต่อกับโครงข่ายที่มีสัญญาณแรงที่สุดในพื้นที่นั้นๆ “ทำให้เราสามารถขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศด้วยระบบโครงข่ายที่ครอบคุมและเสถียร ในราคาที่เอื้อมถึงและคุ้มค่ากว่าการโรมมิ่งแบบทั่วไป”
ปาล์ม บอกว่า ตอนนี้ Waylar Tech สร้างฐานลูกค้าโลจีสติกส์เชื่อมระหว่างผู้คนกับรถและกำลังก้าวต่อไปโดยการขยายสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สมาร์ทฟาร์ม แวร์เฮาส์ซิ่ง รีเทล ฯลฯ โดยพัฒนาแพลทฟอร์มใหม่ๆและก้าวสู่ตลาด Internet of Things คอนเน็คกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งลงทุนร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพอีกด้วย
นี่คือพิกัดทางธุรกิจของ ‘ปาล์ม พันชนะ’ ผู้สะท้อนตัวตนและวิถีการทำงานของเขาว่าเป็น Workaholic บนเส้นทางสายดิจิทัลที่ขยายตัวได้ไม่สิ้นสุด พร้อมแรงบันดาลใจที่ไม่เคยหยุดนิ่ง