[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
The National Museum of American History พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา มีเด็กเยาวชน คนสหรัฐ นิสิต นักศึกษาเข้ามาเรียนรู้กันอย่างเนืองแน่น ก่อนกลับออกไปด้วยความภูมิใจในความเป็นชาติของตนเต็มเปี่ยม

นี่คือ 1 ใน 8 มิวเซียมที่ได้รับความนิยมมากสุดแห่งหนึ่งของสมิธโซเนียน ต้อนรับผู้คนทุกชาติทุกภาษา มาร่วมกันสำรวจเส้นทางความเป็นมาอันยาวนานกว่า 200 ปี ที่ธงรูปดาวสีขาวและนำ้เงินห่มคลุมเทพีเสรีภาพ

The National Museum of American History ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งผมพาไปเที่ยวในตอนที่ผ่านมา แต่การเข้าไปด้านในต้องต่อคิวแน่นขนัดไม่ต่างกัน เพราะไม่ใช่แค่ปริมาณผู้ชม แต่ยังมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างเข้มงวด

บรรยากาศอาคารชั้นล่างค่อนข้างคึกคัก แตกต่างจากที่ผมเคยจินตนาการไว้ว่า มิวเซียมจะเป็นโกดังเก็บของเก่า เอามาเล่าความหลัง แต่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย พิพิธภัณฑ์นี้คือคลังความรู้ที่เฉิดฉาย มีชีวิตชีวา ประดาด้วยรถยนต์โบราณ ประดับตัวการ์ตูนที่เป็นปรากฎการณ์ยุคสมัย ดาราขวัญใจอเมริกันชนและดนตรีที่เปลี่ยนแปลงโลก

ดีสเพลย์หลักๆ ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อยู่ที่ชั้น 2 และชั้น 3 ของอาคาร ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบเรื่องการบ้านการเมืองสหรัฐเป็นทุนเดิม จึงเลือกเข้าไปในห้อง American Stories ก่อนเพื่อน ที่นี่ได้รวบรวมวิถีชีวิตความเป็นมา ตั้งแต่ยุคที่คริสโตเฟอร์โคลัมบัสสำรวจพบทวีปอเมริกาเป็นครั้งแรกในปี 1492

นิทรรศการยังสะท้อนให้เห็นความยากลำบาก ในการข้ามน้ำข้ามทะเลจากฝั่งยุโรปเข้ามาตั้งรกราก สร้างอาณานิคมบนผืนแผ่นดินชนเผ่าอินเดียนแดงที่เรียกว่า โลกใหม่ หรือ ‘New World’

มิวเซียมจำลองโมเดลการสร้างบ้านเรือนที่ทำด้วยไม้ ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านจริงๆ ของผู้คนเมื่อร้อยปีก่อน หลังคา ฝาผนัง รูปถ่าย ฟาร์มปศุสัตว์ การนับถือศาสนา อาหาร รากฐานทางวัฒนธรรม ทุกสิ่งอย่างล้วนสถาปนาขึ้นมาใหม่ไปจนถึงการปฏิวัติต่อสู้เพื่อเอกราชจากอังกฤษ ระบบค้าทาสผิวดำ จนมาถึงยุคศิวิไลเซชั่นในปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้หล่อหลอมคนอเมริกันให้ภูมิใจในบิดาผู้ก่อตั้งประเทศ บรรพบุรุษซึ่งเดินทางมาแสวงหาเสรีภาพจากทุกแถบถิ่นทั้งอังกฤษ เยอรมัน แคนาดา ฝรั่งเศส สเปน ฯลฯ จับจองผืนแผ่นดินอันอุดมสมบูรณ์ ที่ซึ่งเขาสามารถรังสรรค์ผลผลิต คิดระบบการปกครองที่ไร้การกดขี่ เป็นการปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชน ไม่เอาระบอบกษัตริย์ พัฒนาถนน รถไฟ และวิถีการมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม

เจ้าหน้าที่ของมิวเซียมแนะนำว่านิทรรศการที่พลาดไม่ได้ อีกห้องก็คือ ‘First Ladies’ สุภาพสตรีหลายเลขหนึ่ง ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกขานเหล่าภรรยาของประธานาธิบดีสหรัฐมากกว่า 24 คน ตลอด 200 ปีของระบอบประชาธิปไตย สถาบันสมิธโซเชียนได้รวบรวมประวัติความเป็นมา ภารกิจ แนวคิดเอาไว้…เธอคือดอกไม้ที่อยู่เบื้องหลังการทำหน้าที่ผู้นำอย่างยิ่งใหญ่

ไฮไลต์ที่จัดแสดงในห้อง First Ladies คือชุดที่พวกเธอสวมใส่ล้วนวิจิตรงดงาม โดยเฉพาะชุดในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ อาทิ มิเชล โอบามา ภรรยาของอดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามา ซึ่งสวมใส่ในช่วงปี ค.ศ.2013

มิเชลเอ่ยประโยคสำคัญเอาไว้ว่า “ฉันพยายามตอบแทนประเทศของเราที่ให้อะไรแก่ฉันมาอย่างมากมาย เพราะเชื่อว่าพวกเราทุกคน ไม่ว่ามีพื้นเพมาจากไหนหรือมีทางเดินของชีวิตเป็นอย่างไร ล้วนมีบางสิ่งบางอย่างที่ได้สร้างชีวิตและจิตวิญญาณของสหรัฐอเมริกา”

“I’ve tried to give back to this country that has given me so much…I believe that each of us–no matter what our age or background or walk of life–each of us has something to contribute to the life of this nation.” — Michelle Obama

มิวเซียมแห่งนี้ยังมีประวัติของประธานาธิบดีสหรัฐทุกคน พร้อมภาพวาดอันทรงคุณค่า ‘Hall of Fame’ พญาอินทรีทั้ง 44 คน ในห้อง ‘American Presidency’ พร้อมด้วยของสะสมสำคัญกว่า 900 ชิ้น ซึ่งล้วนมีประวัติความสำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์การเมือง อาทิ ไมโครโฟนที่ประธานาธิบดี แฟรงคลิน ดี.รูสเวลท์ ใช้ประกาศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 , แซกโซโฟนของ บิล คลินตัน ผู้นำเจ้าชู้ที่รักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ หรือรถม้าในพิธีสาบานตนของ Ulysses S. Grant นายพลคนสำคัญของฝ่ายเหนือที่เอาชนะฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมือง ปูทางให้เขาก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุด

นอกจากนั้น ยังมีประธานาธิบดี 6 ท่าน ที่สถาบันสมิธโซเนียนได้เพิ่มเติมนิยามความสำคัญและปรากฎการณ์ที่อุบัติขึ้นในแวดวงการเมืองสหรัฐ ได้แก่ ประธานธิบดี จอร์จ วอชิงตัน, แอนดรูว์ แจ็คสัน, อับราฮัม ลินคอห์น, ธีโอดอร์ รูสเวลท์, แฟรงคลิน ดี.รูสเวลท์ และโรนัลด์ เรแกน

ความเก๋ของ ‘The National Museum of American History’ ก็คือเค้าจะมีนิทรรศการถาวรและนิทรรศการขาจร แต่ก็ล้วนเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ นั่งไทม์แมชชีนไปเรียนรู้เรื่องของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ช็อคโลก นักเขียนที่อยู่ในความทรงจำ การนำสิ่งของส่วนตัวที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหน มาให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสด้วยสายตาตัวเอง

อย่างในช่วงเดือนเมษายน มิวเซียมจัดนิทรรศการชั่วคราวภายใต้ ธีม ‘The Nation We Build Together’ ….ประเทศชาติที่เราร่วมกันสร้างมาด้วยกัน บอกเล่าอัตลักษณ์คนอเมริกันที่ผ่านความขัดแย้งเรื่องสิทธิมนุษยชนมาอย่างโชกโชน มีการนำ the Greensboro Lunch Counter บาร์เล็กๆ ในร้านอาหาร จุดเริ่มต้นเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิของคนผิวดำครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1960 นักศึกษาอาฟริกัน-อเมริกัน 4 คนจากนอร์ธแคโรไรน่า เดินเข้าไปในร้านจำหน่ายสินค้าที่ชื่อ the Greensboro Woolwort ตั้งอยู่เลขที่ 132 South Elm Street ในเมือง Greensboro พวกเค้านั่งลงบนสตูลบาร์ก่อนจะสั่งอาหารเที่ยง แต่กลับถูกปฏิเสธจากพนักงานประจำร้านโดยบอกว่า ‘Whites only’ ที่นี่บริการเฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น ผู้จัดการร้านที่ชื่อคลาเรนซ์ แฮริส ได้ขอให้ทั้งหมดออกจาก Store แห่งนี้ไปโดยหารู้ไม่ว่าเหตุการณ์เล็กๆ ครั้งนี้ ได้นำไปสู่การเรียกร้องสิทธิพลเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน นิสิต นักศึกษา และมี ดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิง เป็นผู้นำที่สร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมอเมริกันอย่างสิ้นเชิง

เหตุการณ์ที่ถูกเรียกขานว่า The Greensboro sit-ins ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญและไอคอนในหน้าประวัติศาสตร์ สถาบันสมิธโซเนียนได้นำเคาน์เตอร์บาร์ซึ่งเป็นฉากสำคัญที่ยังคงมีชีวิต มาเก็บรักษาในมิวเซียมเอาไว้อย่างดี พร้อมนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ The Nation We Build Together ครั้งนี้ด้วย

ในตอนหน้าจะพาไปสัมผัสโดมแห่งรัฐสภาสหรัฐและไวท์เฮาสต์ ศูนย์กลางบริหารประเทศที่ยิ่งใหญ่สุดในโลก