[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
เมื่อแสงตะวันสีทองสัมผัสขอบฟ้าอเมริกาฝั่งตะวันออก บ่งบอกนักเดินทางว่า…ดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนี้ เหยียดกรายเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ชักชวนให้เราชื่นชมทัศนียภาพของดอกไม้บาน ราวๆ ประมาณเดือนเมษายน

แรงดลใจมากมายของผมเกี่ยวกับกรุงวอชิงตันดีซี ได้จากการอ่านหนังสือประวัติศาสตร์สหรัฐเล่มหนา History The United State สะสมความรู้ทีละน้อยจากการชมข่าวสารการเมืองต่างประเทศ ทั้ง CNN และ Fox News โดยเฉพาะศึกเลือกตั้งอเมริกาที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวมาเป็นประธานาธิบดีแบบพลิกความคาดหมาย 

ซีรีย์และสารคดีหลายๆ เรื่องของ Netflix ก็ดีครับ ผมมองว่าเป็นคลังข้อมูลออนไลน์ที่มีค่ามากกว่าสุนทรความบันเทิงทั่วๆ ไป Story ของการบุกเบิกสู่ โลกใหม่ หรือ ‘New World’ อย่างที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือผู้ค้นพบทวีปอเมริกาเรียกขาน จนถึงยุคเลิกทาสประกาศอิสรภาพให้แก่คนผิวดำโดยประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอร์น เมื่อร้อยกว่าปีก่อน

D.C. จึงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ผมวางแผนไว้แล้วว่าต้องขอไปสัมผัสสถานที่ทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่เมกะซิตี้ทางการเมืองต้นแบบของประเทศประชาธิปไตยแห่งโลกสมัยใหม่สักครั้งในชีวิต 

เราอุทิศเวลากับทริปนี้รวมแล้วเกือบ 20 วัน ท่องเมืองสำคัญๆ ทางฝั่งตะวันออก นอกจากวอชิงตันดีซีแล้ว ผมยังได้ไปเมืองออลันโด้ ฟิลลาเดลเฟีย และนิวยอร์คขาดก็เพียงบอสตันที่วันใดวันนึงคงจะต้องหาโอกาสไปให้ถึงเช่นกันครับ

ทะเลแดง ศฤงคารแห่งทะเลทราย

แสงแดดอุ่นๆ ส่องลอดหน้าต่างเครื่องบิน Qatar Airways เข้ามาเบาๆ..เส้นทางจากกรุงโดฮา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ข้ามไทม์โซนทีละน้อยๆ พลอยให้อยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น 

ขณะผู้โดยสารคนอื่นๆ กำลังหลับใหล…

เมื่อมองลอดช่องว่างเล็กๆ ของหน้าต่างออกไปยังผืนแผ่นดินเบื้องล่าง ดวงตาของผมต้องเบิกกว้างกับทัศนียภาพที่แปลกสุดๆ เท่าที่เคยสัมผัสมาบนโลกใบนี้

ทะเลสาบสีแดงฉานรูปหัวใจ เหมือนสร้อยคอทับทิมถูกจัดวางไว้กลางทะเลทรายสีน้ำตาล

เมื่อดูที่หน้าจอทีวีตรงหน้า ด้วยอยากรู้ว่าตัวเองไม่ได้ฝันไป จอมอนิเตอร์เส้นทางบ่งบอกว่ากำลังอยู่เหนือแผ่นดินประเทศอิหร่าน พื้นที่อันสูงส่งทางจิตวิญญาณแห่งศาสนาอิสลาม เมื่อแน่ใจแล้วว่าผมไม่ได้ฝันไป จึงหยิบกล้องโทรศัพท์ขึ้นมาบันทึกโมเมนต์นี้เอาไว้

..ดีใจที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เห็นทรัพย์สมบัติของพื้นโลก ศฤงคารอันเจิดจรัสแห่งท้องทะเลทราย อัญมณีสีแดงที่พระเจ้าทำหล่นไว้ในดินแดนอาหรับ…ชั่วนิรันทร์

ไม่นานนัก..เราบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ทะเลสีเทอควอยซ์อีกหลายร้อยพันไมล์มุ่งสู่สหรัฐอเมริกา 

ผมต้องปรับโหมดร่างกายตัวเองใหม่อีกครั้ง พร้อมหมุนเข็มนาฬิกา จูนเวลาชีวิตให้ช้าลงไป 11 ชั่วโมง

Washington Dulles International Airport

The Story of American Dream

กรุงวอชิงตันดีซีเหมาะกับนักท่องเที่ยวที่มีเวลาอ้อยอิ่ง ค่อยๆ ละเมียดละไมกับ รายละเอียด ของเมืองหลวงแห่งที่ 2 ของประวัติศาสตร์อเมริกัน 

ชื่อบ้านนามเมืองนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้เกียรติกับจอร์จ วอชิงตันประธานาธิบดีคนแรกและบิดาผู้ก่อร่างสร้างประเทศ ประกาศเอกราช นำทัพทหารเข้าสู่สงครามปลดปล่อย จนกระทั่งได้รับอธิปไตยจากอังกฤษในปี ค.ศ.1781 

จอร์จ วอชิงตัน ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนแรกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1789 จากแผ่นดินที่ริเริ่ม โดยเหล่าอาณานิคม 13 แห่งกลายเป็นปึกแผ่นเกิดรัฐต่างๆ เริ่มจากฝั่งตะวันออกที่ใช้ นิวยอร์ค เป็นเมืองหลวงแห่งแรก มีคณะรัฐมนตรีที่มาจาก 5 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กรมอัยการ และกรมไปรษณีย์

บุคคลผู้มีบทบาทมากที่สุดในการย้ายเมืองหลวงก็คือ โธมัส เจฟเฟอร์สันรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ มาจากรัฐทางฝั่งใต้ และ อเล็กซานเดอร์ แฮมิลตันรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่กำลังเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้สินของประเทศภายหลังศึกสงครามกับอังกฤษ

เขาต้องการให้สหรัฐเร่งใช้คืนเงินกู้ยืมมาจากยุโรป พร้อมทั้งจ่ายหนี้ของรัฐทางเหนือที่ยังคั่งค้างอยู่ หวังสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้สหรัฐอีกครั้ง โดยรวมๆ แล้วเป็นเงิน 81 ล้านดอลลาร์ ถ้ายุคสมัยนี้ก็น่าจะกว่าพันล้านดอลลาร์ล่ะครับแต่ทางตัวแทนรัฐสภาที่มาจากทางใต้ไม่เห็นด้วย เพราะเท่ากับว่ารัฐที่ปลอดหนี้สินต้องแบกภาระให้กับรัฐที่ไม่มีวินัยทางการคลัง

สุดท้าย แฮมิลตัน จึงไปขอความช่วยเหลือจาก โทมัส เจฟเฟอร์สัน ซึ่งเป็นคนทางภาคใต้และมีอิทธิพลทางความคิด ต่อสมาชิกที่มาจากภูมิภาคเดียวกัน โดยข้อเสนอของเจฟเฟอร์สินก็คือ ต้องการให้เมืองหลวงถาวรของสหรัฐอเมริกาย้ายมาอยู่ดินแดนทางตอนใต้ เพราะเชื่อว่าจะสร้างความเจริญและพัฒนาเศรษฐกิจได้มากขึ้น 

ปรากฎว่าข้อเสนอนี้ Deal! 

รัฐสภามีมติให้สร้างเมืองหลวงแห่งใหม่บนพื้นที่ 100 ตารางไมล์บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโพโตแมค รัฐแมรี่แลนด์ ต่อมาได้ตั้งชื่อพื้นที่นี้ว่า The District of Columbia และอนุมัติก่อสร้างเมืองหลวงในปี ค.ศ.1800 ให้ชื่อว่ากรุง Washington เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ

“ภูมิหลังของเมือง ก็คือความยิ่งใหญ่อลังการแห่งอนุสาวรีย์ มิวเซียม และสถานที่ทางประวัติศาสตร์อันเกริกเกียรติ บริเวณรอบๆ ทั้งหมดนี้ ล้วนทำให้ผู้คนเพรียกหาและอยากมาเยือนกรุงวอชิงตันดี.ซี.” John Thompson เขียนไว้ในหนังสือ Traveler Washington, D.C. โดยนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟิก

สถาปนิกที่รัฐสภาสหรัฐ มอบภารกิจออกแบบกรุงวอชิงตันดีซี ก็คือ ปิแอร์ ชาลส์ ลองฟองต์เขาวางแลนด์สเคปอาณาบริเวณ 100 ตารางไมล์ เนรมิตให้ย่ิงใหญ่และเจิดจรัสเหมือนกับกรุงปารีสของฝรั่งเศส ซึ่งมีถนนณองอลิเซต์ เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม

ขณะที่ จอร์จ วอชิงตัน ก็ดูเหมือนจะสมปรารถนาเช่นเดียวกัน เพราะต้องการให้ทุกมิติของเมืองมีเรื่องราว แม้ผ่านไปหลายร้อยปี เปลี่ยนผู้ปกครองกี่ยุคสมัย เสียงกระซิบของบรรพบุรุษยังคงก้องดังผ่านสถานที่ต่างๆ เสมือนอุดมการณ์ของชาวอเมริกันเต้นเร่าอยู่ในทุกตารางเมตร

บรรยากาศในวอชิงตัน

อนุสาวรีย์คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส

การประกาศอิสรภาพสู่สถานที่ประวัติศาสตร์

‘Capital Hill’ อาคารรัฐสภาสหรัฐหรือสภาคองเกรส สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยประชาชนและเพื่อประชาชน สถานที่ทำงานของผู้แทนพลเมืองและวุฒิสมาชิก ได้รับการตั้งชื่อโดย จอร์จ วอชิงตัน ซึ่งยึดมั่นในความสูงส่งทางจิตวิญญาณของ Capitoline Hill หนึ่งในตำนานภูเขาทั้งเจ็ดและวิหารของเหล่าปวงเทพแห่งกรุงโรม ประเทศอิตาลี

John Thompson นักเขียนยกย่องเมืองหลวงแห่งนี้ด้วยถ้อยคำที่ว่า…เจตจำนงของวอชิงตันลอยสูงเด่นขึ้นเหนือสถาปัตยกรรมใดๆ ตลอดพื้นที่ด้านในของเมืองเก่า ไม่มีตึกที่สูงเกินกว่าโดมของอาคารรัฐสภาสหรัฐ 

กรุงวอชิงตันยังผ่านห้วงเวลาแห่งความบอบช้ำ ในยุคสงครามกลางเมือง ‘Civil War’ เปลวเพลิงได้เผาไหม้ไปทุกหนแห่ง ภายใน 5 ปี มีชาวอเมริกันออกมาเข่นฆ่ากันเองด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันและสิ้นชีพไปถึง 6 แสนคน บ้านเรือนผู้คน ทรัพย์สิน เสียหายเกินกว่าจะประเมินค่าได้

สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ล้วนกำเนิดจาก แผ่นหิน ดินหญ้า หลักศิลาซึ่งเประเกรอะกรังไปด้วยคราบเลือด หยาดเหงื่อ และหยดน้ำตา 

สิ่งเหล่านี้นี่เองหล่อหลอมให้ชาวอเมริกันผูกพันกับชนชาติ ประวัติศาสตร์ และสิทธิมนุษยชนอย่างแยกไม่ออก การมองทบทวนอดีตทำให้เกิดการวางรากฐานแห่งอนาคต ประสบการณ์หล่อหลอมเป็นปรากฎการณ์ที่ยิ่งใหญ่ในกาลเวลาต่อมา

สัปดาห์ซากุระในสวนสาธารณะแสนงาม

สถานที่ท่องเที่ยวของวอชิงตันดีซี จึงมิใช่ธรรมชาติสวยงามอลังการ ร้านอาหารหรูหรา หรือห้างสรรพสินค้าใหญ่ยักษ์ แต่กลับโดดเด่นไปด้วยความเจริญของสุนทรีย์ทางปัญญา ศิลปกรรมร่วมสมัย สินทรัพย์ที่ยังคงมีชีวิต พิพิธภัณฑ์อันหลากหลาย สีสันความศิวิไลซ์ชวนให้ หลงรัก ซึมซับเรื่องราวของมนุษยชาติในด้านต่างๆ ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวิถีวัฒนธรรม 

ระบบขนส่งมวลชนและการเดินๆๆ ล่ะครับ น่าจะเหมาะสมกับการชื่นชมความสวยงามของกรุงวอชิงตันดีซี 

ยิ่งในช่วงที่มี Cherry Blossom เช่นนี้ ท้องฟ้าเป็นสีฟ้า ริมทะเลสาบพร่างพราวไปด้วยสีชมพู ใครที่เคยอิ่มเอิบกับเทศกาลซากุระที่ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว ก็แนะนำให้ลองสัมผัสฤดูดอกไม้บาน ท่ามกลางวัฒนธรรมตะวันตกที่แตกต่างออกไป 

ชาวเมืองวอชิงตันเค้าจะมีความสุขเป็นพิเศษกับโมเมนต์นี้ ช่วงประมาณสัปดาห์แรกต้นเดือนเมษายนของทุกปี ร้านรวงต่างๆ ของที่ระลึกแจ่มๆ จะแต้มสีหวานๆ ของดอกซากุระ ไปจนถึงบรรดา ‘Food Truck’ ก็จะจอดเรียงรายตามถนนขายฮอตดอก แฮมเบอร์เกอร์ กาแฟอุ่นๆ ใกล้กับอนุสาวรีย์จอร์จ วอชิงตัน รองรับนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลมาในฤดูใบไม้ผลินับล้านคน

ผมขึ้นรถไฟใต้ดินสายสีแดงจากโรงแรมที่พัก Hyatt Place Washington D.C. ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานี NoMa Galluadet U ย่านพักอาศัยและสำนักงาน เพื่อไปลง ณ สถานี Smithsonian ไม่นานล่ะครับแค่สิบนาทีเอง 

สถานี Smithsonian ตรงนี้เป็นเหมือนจุดไฮไลต์สำคัญของรถไฟอย่างน้อย 3 สายหลักต้องผ่านมาพร้อมด้วยผู้คนมากมาย เพราะเป็นแอเรียที่เรียกว่า ‘National Mall’ 

พูดให้ง่าย ก็คล้ายๆ กับสนามหลวงบ้านเรา ทุกคนจะลงรถลงเรือ เพื่อมาเที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์หรือถนนราชดำเนินของเรานั่นเองครับ

ในช่วงที่ผมไป National Mall อันยิ่งใหญ่และกว้างไกลมาก ก็เป็นจังหวะเวลาเดียวกับที่กรุงวอชิงตันดีซีกำลังจัดพิธีรำลึกถึงการเสียชีวิตครบ 50 ปี ของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนสำคัญในทศวรรษที่ 60-70 จึงมีผู้คนโดยเฉพาะคนผิวดำมาร่วมไว้อาลัยและไฮปาร์คกันอย่างไม่ขาดสาย คึกคักทีเดียว

ศาลสูงสุดสหรัฐ

คงไม่มีใครลืมเหตุการณ์เดินขบวนเรียกร้อง เสรีภาพ ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของสหรัฐเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.1963 ผู้คนทุกชนชั้นทั้งผิวดำ ผิวขาว อเมริกัน และแอฟริกัน-อเมริกัน ราวสองแสนห้าหมื่นคนก้าวไปด้วยกันบนเส้นทางสู่ National Mall ซึ่งเป็นที่ตั้งของ 3 สถาบันหลักของประชาธิปไตย อันได้แก่รัฐสภา ทำเนียบขาว และศาลสูงสุดของสหรัฐ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในวิถีอเมริกันอย่างมากมาย

ณ วันนั้น ดร.คิง กล่าวสุนทรพจน์ด้วยถ้อยคำที่นักสังคมวิทยาบอกว่า ดีที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเรียกร้องสิทธิพลเมือง 

“I have a dream that my four children will one day live in a nation where they will not be judged by the colour of their skin but by the content of their character.”

ผมมีความฝันว่า วันหนึ่ง ลูกๆ ทั้งสี่คน จะได้อาศัยในประเทศที่ไม่พิพากษาคนที่สีผิว แต่ตัดสินกันด้วยความคิดอ่านของพวกเขา

เบนจามิน ฮูสตัน อาจารย์ชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล บอกว่า เนื้อหาของสุนทรพจน์ “I have a dream….” ไม่เพียงดังกึกก้องไปทั่วสหรัฐอเมริกา แต่ยังมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนทั่วโลก…..

ขอบอกก่อนว่าอาณาบริเวณรอบๆ National Mall และเมืองเก่ามีสถานที่สำคัญๆ ให้สำรวจมากมาย โปรแกรมที่เตรียมไว้ว่าอยากไปให้ครบ คงใช้เวลาหลายวันก็ยังไม่จบ 

ดังนั้น ถ้าใครมีเวลาน้อยผมขอแนะนำให้นั่งรถบัสสำหรับบริการนักท่องเที่ยวจุดขึ้นอยู่ที่ ‘Union Station’ สถานีรถไฟขนาดใหญ่ศูนย์กลางการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลวงกับเมืองรอง ด้านหน้าสถานีจะมีรถบัสวิ่งวนไปวนมารับส่งนักท่องเที่ยวบนถนนสายหลักของ National Mall ช่วยให้ไม่พลาดชมสถาปัตยกรรมและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แน่นอน

เมื่อเดินขึ้นจากสถานีรถไฟใต้ดิน Smithsonian เราก็สามารถมูฟไปต่อยังจุดต่างๆ ซึ่งเชื่อมกันเป็นบล็อคๆ อย่างลงตัว อยากให้ลองจินตนาการดูนะครับว่า ถ้าเราให้ Washington Monument ไอคอนหลักของกรุงวอชิงตัน เป็นศูนย์กลางของ National Mall 

ด้านทิศเหนือก็คือที่ตั้งของทำเนียบขาวหรือ The White House
ทิศตะวันออกก็คือ Capital Hill
ด้านตะวันตกคือ Lincoln Memorial 

ผมเลือกเดินลงมาทางด้านใต้มุ่งสู่ Jafferson Memorial เพราะสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นได้พยากรณ์อากาศบอกว่า ณ บัดนาวเป็นสัปดาห์แห่ง Cherry Blossom ดอกซากุระบานทั้งเมือง แม้ปีนี้อาจแปลกไปสักนิด เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงแปรปรวนครับ ปลายฤดูหนาวยาวนานและย่างใบไม้ผลิล่าช้ากว่าปกติ 

วันใดแสงแดดออกเมื่อไหร่ เราก็จะเห็นผู้คนหลั่งไหลออกมาชื่นชมซากุระกันอย่างเนืองแน่น บริเวณรอบๆ Tidal Basin ดอกไม้แห่งบรรณาการความสัมพันธ์จากญี่ปุ่นกว่าหนึ่งพันต้น ผลิดอกนับหมื่นนับแสนพร้อมๆ กัน โปรยปรายสีชมพูสดชื่นชวนให้สถานที่สำคัญๆ เหล่านี้สดใสและมีชีวิตชีวา 

ถ้าอนุสาวรีย์ของ ‘โทมัส เจฟเฟอร์สัน’ บิดาแห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐและหนึ่งในผู้ก่อร่างสร้างประเทศร่วมกับ ‘จอร์จ วอชิงตัน’ ทั้งสองคนท่านคือนิยามแห่งอดีตอันรุ่งเรือง แต่ผู้มาเยือนคือห้วงเวลาปัจจุบันและพวกเขาจะนำเรื่องราวดีๆ สัญลักษณ์ทรงคุณค่ากลับไปสร้างอนาคตอันรุ่งโรจน์ให้แก่โลกใบนี้ต่อไปครับ

…ตอนหน้าผมอยากชวนให้ทุกคน มาตื่นตาตื่นใจกับกรุงวอชิงตันดีซีที่แท้จริงสิ่งที่เป็น เสน่ห์ซ่อนเร้น อยู่ในทุกอณูแห่งเมืองหลวงสหรัฐอเมริกา