[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]

ช่วงเวลานี้ได้ยินเรื่อง ”อาหารในโรงเรียน” บ่อยครั้ง อดไม่ได้ที่จะเล่าสู่กันฟังเป็นประสบการณ์ดีๆ จากภูธร พื้นที่ห่างไกลศูนย์กลางประเทศอย่างกรุงเทพมหานคร แต่จัดระบบอาหารกลางวันให้เด็กๆ ได้อย่างดีด้วยงบประมาณไม่ต่างจากที่อื่นๆ คือ 20 บาท/มื้อ 

สุรินทร์เป็นพื้นที่ตัวอย่างของการจัดอาหารกลางวันให้กับเด็กที่ต้องยกนิ้วให้ว่า “สุดยอด” หัวบันไดไม่เคยแห้ง มีผู้คนมาศึกษาดูงานตลอดเวลา ที่นี่มี 2 รูปแบบการจัดอาหารในโรงเรียนบ้านโคกจำเริญ ต.ตานี อ.ปราสาท สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ต.เมืองแก อ.ท่าตูม ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ความตั้งใจของ ผอ.กลายเป็น รร.ต้นแบบ

ที่โรงเรียนบ้านโคกจำเริญ เป็นตัวอย่างของการจัดระบบอาหารในโรงเรียนที่ ตั้งต้นมาจากการเอาใจใส่ของผู้บริหารโรงเรียนเป็นที่ตั้ง วันนั้นเห็นปิ่นโตของเด็กที่หิ้วมาจากบ้าน มีแค่อาหารติดปิ่นโต เด็กหลายคนไม่มีอาหารเช้าตกถึงท้องก่อนมาโรงเรียน เด็กนับสิบเป็นลมเมื่อต้องลงแข่งกีฬาโรงเรียน ผมเลยนิ่งเฉยอยู่ไม่ไหว ผู้นำคนสำคัญอย่าง ครูถวิล บุญเจียม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกจำเริญ สะท้อนความรู้สึกต่อเหตุการณ์ที่เห็นต่อหน้าเมื่อกว่า 15 ปีมาแล้วเมื่อเขาเพิ่งย้ายมาเป็นผู้อำนวยการที่โรงเรียนแห่งนี้ใหม่ๆ

เมื่อไม่อาจเพิกเฉย ครูถวิล เลยลุกขึ้นมาปฏิวัติระบบอาหาร พร้อมกับปรับสภาพแวดล้อมในโรงเรียน เป้าหมายสูงสุดที่ครูตั้งไว้ นอกจากให้เด็กกินอิ่มอย่างมีโภชนาการที่ดีแล้ว ยังต้องการสร้างบรรยากาศที่ดีให้เด็กมีสุขภาวะในการเรียนด้วย

ครูถวิล บอกวิธีการที่โรงเรียนต่างๆสามารถนำไปใช้ได้เลย เขาเริ่มต้นทำงานด้วยการถ่ายทอดความตั้งใจนี้ให้กับครูในโรงเรียน เพื่อให้เห็นเป้าหมายร่วมกัน พร้อมกับบอกเล่าเก้าสิบกับชุมชนรอบโรงเรียน เพราะเด็กในโรงเรียนเป็นลูกหลานของคนในชุมชนกว่า 80% จากนั้นเริ่มปรับสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้น่าอยู่น่ามอง และสตาร์ทจัดระบบ “อาหาร” ในโรงเรียน โดยเข้าอบรมโปรแกรม Thai School Lunch ซึ่งเป็นโปรแกรมออนไลน์แนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติที่มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกันพัฒนาขึ้น พร้อมกับจัดโครงการอบรมให้กับบุคลากรในโรงเรียนให้ใช้โปรแกรมนี้เป็น

แม้จะถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น แต่ครูถวิล เห็นว่าต้องเรียนรู้โปรแกรมนี้ เพื่อเอามาใช้งาน เพื่อเป็นไกด์ไลน์นำทางจัดสำรับอาหารให้เด็กแต่ละมื้ออย่างถูกต้องตามโภชนาการ เขาไม่รอช้ากระโดดเข้าอบรมการใช้โปรแกรมนี้ด้วยตนเอง ต่อมาก็ได้ดึงแม่ครัว 2 คนมาอบรมด้วย

พร้อมกันนั้นก็ทะยอยซื้ออุปกรณ์ต่างๆ อาทิ ถาดหลุม ให้ครบจำนวนเด็กทุกคน และ ส่งเสริมแปลงเกษตรในโรงเรียน รวมถึงเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อสะสมผลผลิตปลอดสารเคมีไว้นำมาทำเป็นอาหารกลางที่ปลอดภัยต่อเด็ก การทำเกษตรในโรงเรียน ครูถวิล บอกว่ามีข้อดี 100% นอกจากมีผลผลิตไว้ทำอาหารกลางวันแล้ว ยังเชื่อมโยงแปลงเกษตรเข้ากับการเรียนการสอน เป็นเครื่องมือให้เด็กได้เรียนรู้ และช่วยให้มีเด็กพลัดเปลี่ยนมาดูแลสม่ำเสมอ ทำให้แปลงเกษตรมีชีวิตและอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่แปลงสาธิตไว้โชว์ชั่วคราวเท่านั้น

ขยายความร่วมมือสู่ชุมชน

เมื่อต้องการขยายผลเรื่องโภชนาการให้ครอบคลุมทั้ง 3 มื้อของเด็ก ครูถวิล ก็ได้กระตุ้นพ่อแม่ผู้ปกครองให้ดูแลโภชนาการให้เด็กด้วย โดยใช้การประชุมผู้ปกครองที่มีเทอมละครั้ง บอกเล่าซ้ำไปซ้ำมาเกี่ยวกับความสำคัญของโภชนาการที่ดี ทั้งการกินผักและผลไม้ รวมถึงการให้เด็กกินในมื้อเช้าก่อนมาโรงเรียน ทั้งยังใช้เวทีนี้บอกให้ชุมชนนำผลผลิตจากแปลงพืชผัก หรือผลผลิตรอบบ้าน มาส่งให้โรงเรียนโดยตรง เพื่อทำอาหารกลางวันให้ลูกหลานของเขาเสริมจากการซื้อวัตถุดิบจากตลาด และการประชุมผู้ปกครองยังเป็นอีกเวทีที่โรงเรียนจะชี้แจ้งทุกเรื่องให้ชุมชนรับทราบ

ขณะที่กำลังจัดระบบอาหารกลางวันให้เข้าที่เข้าทาง ก็มีการสำรวจเด็กทั้ง 200 คนในโรงเรียนไปด้วยกัน เพื่อดูพัฒนาการของเด็กว่าสมวัยหรือไม่ โดยโฟกัสเด็กผอมและเตี้ย เพราะแน่นอนว่าเด็กมาจากหลากหลาย บางคนมาจากครอบครัวยากจนไม่มีอาหารที่มีคุณภาพตกถึงท้องครบทุกมื้อ

พลานามัยของเด็ก และสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่เปลี่ยนไป ไม่อาจรอดพ้นสายตาของคนในชุมชน ก่อเป็น ความเชื่อมั่น และแรงศรัทธา ทำให้ “น้ำใจ” จากชุมชนหลั่งใหลเข้ามาที่โรงเรียนสม่ำเสมอ  แม้การก่อสร้าง “โรงอาหาร” ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งต้องใช้เงินหลักแสนบาท ก็สามารถทำได้โดยใช้เวลาเพียง 1 ปี เป็นโรงอาหารที่สามารถรองรับเด็กกว่า 200 คนได้พร้อมๆกัน ซึ่งกว่าครึ่งของงบก่อสร้าง ราว 2 แสนบาท มาจากเงินบริจาคจากของชุมชนจากการทำผ้าป่าการศึกษา อีกก้อนหนึ่งมาจากการที่ครูถวิล ยื่นเรื่องขอจัดสรรงบจากกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา

นอกจากนี้ชุมชนยังนำข้าวของมาบริจาคโรงเรียนแห่งนี้เสมอ อาทิ หม้อหุงข้าวขนาดใหญ่ รวมถึงนำผลผลิตมาส่งให้โรงเรียนโดยตรง บ่อยครั้งที่ให้โดยไม่คิดเงิน และในนั้นเป็นพืชผักปลอดสารเคมี เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่ได้ตอบแทนกลับมาก็คือ สุขภาวะของลูกหลานเขา

เคล็ดลับการทำงานของครูถวิล ที่ทำให้การจัดอาหารกลางวันในโรงเรียนที่มีคุณภาพสามารถทำต่อเนื่องได้อย่างยั่งยืนไม่ขาดแหว่ง เราวางระบบก่อน อะไรที่โรงเรียนทำได้เอง ทำเลย  งบค่าอาหารกลางวัน 20 บาทต่อหัวยืนยันว่าเหลือถ้าเราจัดดีๆ ก็ทำให้มีเงินไปซื้อถาดหลุมใหม่ ซื้ออุปกรณ์ทำครัวที่ขาดได้ และเมื่อโรงเรียนตั้งใจทำให้เด็ก เด็กมีความสุขในการเรียนมีสุขภาพแข็งแรง ชุมชนก็ศรัทธา

นับจากโรงเรียนที่มีผู้นำอย่างครูถวิล เริ่มต้นทำเมื่อปี 2552 จนถึงปี 2557 โรงเรียนสามารถประกาศไม่ต้องให้เด็กห่อข้าวมาจากบ้าน เพราะโรงเรียนพร้อมจัดหาอาหารกลางวันให้เด็กได้ทุกคน ทั้งยังสามารถจัดอาหารเช้าให้เด็กที่ขาดแคลนด้วย นับเป็นอีกรูปธรรมของการช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

เมืองแกใช้ ครัวกลาง” เพิ่มคุณภาพอาหารกลางวัน

เทศบาลเมืองแกอ.ท่าตูม จ.สุรินทร์  ก็เป็นอีกพื้นที่ต้นแบบ ที่นี่มีหัวเลี้ยวหัวแรงอย่าง นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก ที่พุ่งตรงการทำงานไปที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ในความดูแลของเทศบาล 4 แห่ง ปัจจุบันมีเด็กราว 100 คน ซึ่งมาจากครอบครัวแตกต่างหลากหลายในชุมชน

เมื่อเห็นความสำคัญของการสร้างอนาคตที่ดีของชาติตั้งแต่เยาว์วัยก่อนจะสายเกินไป ปลัดสุรศักดิ์ จึงคิดจะปลดปมปัญหาที่เกิดขึ้นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอย่างจริงจัง เพราะครู 1ใน 3 คนของแต่ละศูนย์ฯ ต้องแบ่งเวลาจากการดูแลเด็กไปจัดอาหารกลางวันด้วย นอกจากนี้แต่ละศูนย์ฯก็มีความเหลื่อมล้ำ เด็กได้รับอาหารแตกต่างกัน และบางแห่งมีต้นทุนค่าอาหารสูง บางแห่งมีต้นทุนต่

การคิดทำ ครัวกลาง จึงเกิดขึ้น และวางระบบการจัดการ โดยรวมงบค่าอาหารกลางวัน 1.2 ล้านบาทต่อปีของทั้ง 4 ศูนย์ฯเข้าด้วยกัน เพื่อเอื้อต่อการควบคุมและคัดสรรวัตถุดิบ มีการสำรวจ และขึ้นทะเบียนเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อรับซื้อผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดสารเคมีไม่ว่าจะเป็น พืช ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ มาปรุงอาหาร และให้แม่ครัวทำอาหารโดยอิงจากโปรแกรม Thai School Lunch เช่นกัน

ระบบที่ชัดเจน ทำให้เทศบาลสามารถวางแผนการผลผลิตล่วงหน้าในแต่ละฤดูกาลให้สอดรับกับเมนูอาหาร 3 เดือนล่วงหน้า นอกจากนี้ยังทำให้เงินหมุนเวียนในชุมชนกว่า 70% ของงบประมาณ หรือประมาณ 800,000 บาท เพราะมุ่งซื้อผลผลิตจากชุมชน

โมเดลของทั้ง 2 แห่งของสุรินทร์ กำลังถูกนำไปขยายผลต่อ ครูถวิล กำลังเป็นวิทยากรเดินสายบรรยายให้โรงเรียนอื่นๆ ขณะที่นายสุรศักดิ์ กำลังเชื่อมต่อการจัดการอาหารจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กไปยังการจัดการอาหารในโรงเรียนในพื้นที่จำนวน 6 แห่งด้วย

ปลัดสุรศักดิ์ ฝากบอกว่า การจัดอาหารกลางวันในโรงเรียนจะทำได้ดีอยู่ที่ผู้บริหาร ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องจัดเป็นวาระจังหวัด กระทรวงศึกษาธิการต้องมีนโยบายสั่งตรงให้ทุกโรงเรียนใช้โปรแกรม Thai School Lunch ขณะเดียวกันผู้บริหารโรงเรียนก็ต้องกล้าที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น ต้องสร้างแปลงเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเลย สามารถผนวกเป็นกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ได้อีกด้วย ทำให้เด็กมีอาหารที่ปลอดภัยบริโภค พร้อมกับปรับเปลี่ยนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อหาแม่ครัวที่ดี และมุ่งเน้นซื้อวัตถุดิบในชุมชน

ข้อเสนออาหารปลอดภัยคู่ระบบอาหารกลางวัน 

อย่างไรก็ตามการจัดอาหารกลางวันในโรงเรียนต้องมีการปรับในระดับนโยบายด้วย เพื่ออุดช่องโหว่ และพัฒนาให้สอดรับกับสถานการณ์ คณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นอาหารกลางวันภายใต้กลไกของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ ซึ่งทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอดหลายปี ได้มีการรวบรวมข้อเสนอสำคัญๆจากพื้นที่เพื่อส่งต่อให้ผู้กำหนดนโยบายนำไปขบคิด ที่สำคัญก็คือ การสร้างเส้นทางและระบบการผลิตอาหารปลอดภัยจากแปลงของเกษตรกรในท้องถิ่นมาสู่อาหารในโรงเรียน 

ทันตแพทย์หญิงจิราพร ขีดดี แกนนำคนสำคัญของคณะทำงานฯ จึงเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องต้องทำ 4 เรื่องไปพร้อมๆกัน 1.คุณค่าทางโภชนาการ 2.ความปลอดภัยทางอาหาร 3.ความมั่นคงอาหาร และ 4.อาหารศึกษา 

ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะการพัฒนาคุณภาพของ “อาหารในโรงเรียน” ไม่ได้หมายเพียงแค่การทำให้เด็กได้รับอาหารถูกหลักโภชนาการในแต่ละมื้อเท่านั้น แต่เด็กต้องได้รับอาหารที่ปลอดภัยด้วย จึงจำเป็นต้องทำให้แปลงเกษตรอินทรีย์ขยายเพิ่มขึ้นไปพร้อมกันด้วย  เพราะนี่คือภารกิจสร้างคน เพื่อขับเคลื่อนประเทศในวันข้างหน้า อาหารปลอดภัย หมายถึง คนที่ปลอดภัย คนที่แข็งแรง พร้อมสำหรับนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ไม่ใช่ “คน” ที่กระปลกกระเปลี้ยจากการสะสมของโรคที่มากับอาหารพิษ


 ภาพประกอบ : facebook/kjr.school.surin3