ทักทายท้องฟ้าเขียวคราม มองสายรุ้งพาดผ่านเทือกเขา ผ่านหลักไมล์ไม่ได้บอกเพียงระยะทาง แต่เล่าเรื่องราวและมอบประสบการณ์ดีๆ
วันที่กระต่ายป่ากระโดดอย่างเชื่องช้าจากเทือกเขา เหล่าฝูงแกะขี้เซานอนนับเม็ดฝน…แล้วก็ชายฝั่งที่เจ้านก ‘อัลบาทรอส’ นางนวลตัวโตแห่งท้องทะเล บินล้อเล่นอยู่กับคลื่นลม
ยลแสงสีศิวิไลซ์แห่งควีนส์ทาวน์และฟังเสียงเพนกวิน Yellow-Eyed ที่ใกล้สูญพันธุ์ ริมหาดแคทลินส์อันเหยียดยาว
สำหรับผม การขับรถที่นิวซีแลนด์เหมือนวิ่งผ่าน ‘เฟรมภาพ’ นับร้อยนับพัน ให้เราได้บันทึกทุกช่วงเวลานาที…นี่คือวิถีวัฒนธรรมแห่งการท่องเที่ยวบนเกาะใต้ ทุกแห่ง ทุกจุด ทุกเส้นทาง ชวนให้ตื่นตาตื่นใจด้วยทัศนียภาพของฟากฟ้า ทะเล ฝน และฝูงแกะ
ผมกระเตงครอบครัว ลงเครื่องที่เมืองไคร์สเชิร์ช แวะนอนชิลๆ หนึ่งคืนก่อนจะเช่ารถจากบริษัทท้องถิ่น ‘Toyota Camry’ สีทองอร่ามเป็นเพื่อนร่วมทริปและต้องอยู่ด้วยกันตลอดทาง กินนอนทนุถนอมไปอีก 12 วัน
แผนที่ๆ เตรียมมาจากกรุงเทพถูกหยิบขึ้นมาควบคู่กับการเปิดหา GPS ในรถ รอยดินสอ ‘ขีดวง’ ไว้ เป้าหมายที่จะปักหมุดจุดไหนบ้าง รู้สึกเหมือนว่ารถคันนี้จะต้องเดินทางเป็นรูปหมายเลข 8 คือวิ่งลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านทะเลสาบที่ได้รับการยกย่องว่าสวยที่สุดในโลก อ้อมลงไปสุดขอบแผ่นดิน South Scenic Route ก่อน Go West ไปภูเขาหิมะ Franz Glacier จวบจนแสงตะวันลับฟ้า ข้าม Arthur’s Pass เส้นทางที่ทุกคนบอกว่าควรมาสัมผัสซักครั้งในชีวิต
ใครที่เคย Self Drive ขับรถเที่ยวญี่ปุ่นมาแล้ว ก็คงไม่ต้องกังวลกับท้องถนนในนิวซีแลนด์ เพราะวิ่งเลนซ้ายเหมือนกันและทัศนียภาพที่สวยงามอลังการแปรเปลี่ยนไปตลอด 2 ข้างทาง ก็ทำให้ใครๆ ต่างมีความสุขพร้อมจุดแวะพักเป็นระยะๆ เพื่อทักทายเพื่อนร่วมทาง
ปรากฎการณ์แสง เหนือทะเลสาบ Tekapo
ออกจากเมืองไคร์สเชิร์ช ผมมุ่งสู่จุดหมายแรกคือทะเลสาบ Tekapo หลักกิโลเมตรใน GPS บอกระยะทางเกือบสามชั่วโมง กลิ่นอายของความเป็นเมืองเริ่มหายไปทีละน้อย
เมื่อมาถึงทางแยก Cox Street มีนักท่องเที่ยวแวะพักตรงจุดนี้มากมายเพื่อทานอาหาร ผมเจอร้านแยม Handmade ใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นหลากหลายรสชาติ ต้อนรับนักชิมจากทั่วทุกมุมโลก
ในวันที่ท้องฟ้าเจิดจรัส ตัดกับเมฆขาวบางๆ ทางหลวงหมายเลข 79 เชื่อมต่อกับไฮเวย์หมายเลข 8 เราเข้าใกล้จุดหมาย รู้สึกเหมือนเครื่องบินกำลังทัชดาวน์สู่พื้นโลกช้าๆ ความงดงามของเทือกเขาแอลป์อยู่ตรงหน้าและทะเลสาบสี Turquoise เหมือนที่เคยเห็นในโปสการ์ดและแมกกาซีนชื่อดัง…สวรรค์บนดินมีอยู่จริง?
รอบๆ ผืนน้ำแห่งนี้ ครั้งหนึ่งในฤดูร้อน เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของ ชาวเมารี เร่ร่อน บรรพบุรุษผู้ทรงคุณค่าของแผ่นดินนิวซีแลนด์…ท่ามกลางแสงเหนือยามค่ำ รอบกองฟืนที่ครอบครัวได้อยู่ร่วมกันและคำอธิษฐานถึงสิ่งดีงามแต่ดูเหมือนพระเจ้าไม่เข้าข้าง เมื่อคนขาวผู้มีนามว่า Jock Mackenzie มาถึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่ง
…โลกของชาวเมารีไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จากเคยหาปลา ล่าสัตว์และเก็บของป่าพึ่งพาธรรมชาติ มาสู่ฟาร์มปศุสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงแกะเพื่อตัดขนขาย ถักทอเป็นเสื้อไหมเพื่อสวมใส่ให้แก่คนเมือง
การเดินไปรอบๆ ทะเลสาบ Tekapo เก็บภาพบรรยากาศมุมต่างๆ ได้เห็นความสวยงามที่เปลี่ยนไปในแต่ละองศา ประกายแห่งสีฟ้าครามยามบ่าย สะท้อนความลึกล้ำของลำน้ำ ท่ามกลางต้นหญ้าที่แปรเป็นสีทอง ผมเชื่อว่ามันเป็นเช่นนี้มาหลายชั่วอายุคน
ศรัทธาอันศักดิ์สิทธิ์ของผืนน้ำมิได้แปรเปลี่ยน แต่ความต้องการของผู้คนที่เพิ่มขึ้น ทำให้รัฐบาลนิวซีแลนด์ต้องสร้างท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ ผันน้ำไปสู่โรงผลิตกระแสไฟฟ้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนบนทุกแถบถิ่น
สะพานเล็กๆ เชื่อมต่อระหว่างฝั่งทะเลสาบกับโบสถ์ที่เป็นแลนด์มาร์คเหมือนถ่ายภาพของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ‘Church of the Good Shepherd’ สร้างสรรค์และออกแบบโดย R.S.D. Harman ตั้งแต่ปี 1935 ปัจจุบัน นอกจากใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้กับชาวเมือง Mackenzie แล้ว โชคดีอาจเห็นพิธีแต่งงานท่ามกลางบรรยากาศงดงามอีกด้วย
ถ้าใครเลือกพักโรงแรมแถวนี้ มี ‘จุดขาย’ คือวิวที่เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างอาจนึกว่า เฟรมภาพถูกวาดด้วยสีน้ำมันอ่อนหวาน ร้านรวงรอบๆ Tekapo คราคร่ำด้วยผู้คน มีทั้งอาหารตะวันตกและตะวันออกซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ขายของสดให้กลับไปทำเองที่รีสอร์ท
ผมเลือกค้างคืนที่โรงแรมเล็กๆ เดินขึ้นไปบนเขาฝั่งเหนือไปราว 100 เมตร บรรยากาศอบอุ่นเหมือนสถานที่พบปะสังสรรค์ของเหล่านักเดินทางทั่วโลกมากกว่า กลางวันทุกคนจะออกไปแสวงหาความงดงาม กลางคืนจะกลับมาทำอาหารในห้องครัวเดียวกัน แม้จะพูดคุยคนละภาษา มาจากต่างวัฒนธรรม แต่ก็มีรอยยิ้มให้กันเสมอ
เมื่อดินเนอร์เสร็จแล้ว ทุกคนเหมือนจะรู้หน้าที่ ล้างภาชนะและเก็บเข้าที่เรียบร้อย ก่อนจะหามุมสงบทานชาร้อนๆ หรือกาแฟอุ่นๆในคืนที่หนาวเหน็บ
ราวๆ ตีห้าของเช้าวันต่อมา ผมเดินฝ่าหมอกจางๆ เพื่อไปรอถ่ายรูปณแสงแรกที่จะสาดส่องมาสัมผัส Church of the Good Shepherd เมื่อไปถึงก็ต้องเซอร์ไพร์ส ไม่คิดว่าบรรดาช่างภาพจะมาตั้งกล้องรอนับสิบตัวทุกคนต่างอ้อนวอนให้ฟ้าเปิด แต่ดูเหมือนว่าพระเจ้าจะยังไม่ตื่นจากหลับใหล เจ็ดโมงเช้าแล้วแต่เมฆหนายังขมุกขมัว
กระต่ายป่าออกมาเล็มหญ้า หาอาหาร นกหลากสีแข่งกันร้องซิมโฟนีหมายเลขสาม ผมเห็นหลายคนเก็บกล้องแล้วกลับที่พัก อาจมีนัดต้องเดินทางต่อไป แต่ส่วนตัวยังตั้งตารอคอย…แล้วก็ได้เห็นปรากฎการณ์ลำแสงเหนือโบสถ์อันศักดิ์สิทธิ์นั้นจริงๆ
Mount Cook หุบเขาแห่งอัลไพน์
รถส่วนใหญ่ที่วิ่งมาตามไฮเวย์หมายเลข 8 ล้วนมีจุดหมายเดียวกันนั่นคือ อุทยานแห่งชาติ Aoraki/Mount Cook เพอร์เฟกต์วิวของยอดเขาที่สูงสุดในนิวซีแลนด์…ส่วนหนึ่งของมรดกโลก Waipounamu – South Westland World Heritage Area
ระหว่างทาง ผมแวะทานอาหารกลางวันเป็นพายสอดใส้แซลม่อนสุดแสนอร่อย ร้าน Local Food ริมทางเป็นตัวเลือกที่ดีมากเพราะพายคืออาหารสุดโปรดปรานอย่างหนึ่งของชาวนิวซีแลนด์
ตลอดเดือนตุลาคม-เมษายน ถือเป็นฤดูท่องเที่ยวที่เหมาะที่สุดสำหรับการไปเยือน Aoraki/Mount Cook ทุกๆ โมเมนต์ต้อนรับนักปีนเขา นักเดินทาง นักผจญภัยจากทั่วโลก หลั่งไหลเข้ามายังดินแดนที่สร้างแรงบันดาลใจอันล้ำค่า
เส้นทางสู่ Mount Cook เต็มไปด้วยทุ่งหญ้าอัลไพน์สีน้ำตาลและฉากหลังคือเทือกเขาที่ Landscape ของมันทำให้เรามองเห็นเฟรมภาพแบบพาโนรามา
อุทยานแห่งชาติครอบคลุมยอดเขา 19 ลูกที่สูงกว่า 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลไฮไลต์สำคัญ The Tasman Glacier ธารน้ำแข็งที่ทอดยาวถึง 27 กิโลเมตร กินอาณาเขตกว่า 40% ของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมือง ตำนานมหัศจรรย์ของชาวเมารีผู้มีนามว่า Aoraki ก่อนที่กัปตัน Cook จะแล่นเรือมาจอดที่ชายฝั่งทะเลใต้ ส่งคนขาวมาบุกเบิกด้านในของแผ่นดิน เทือกเขาที่ถูกค้นพบแห่งนี้จึงเป็นอาณานิคมใหม่ที่ให้เกียรติแด่ผู้อยู่เดิมด้วยจึงใช้ชื่อ Aoraki/Mount Cook
ศูนย์กลางของอุทยาน ได้แก่โซน Mount Cook Village และ The Hermitage Hotel โรงแรมเก่าแก่ที่สร้างมานานกว่ารีสอร์ทอื่นๆ นักเดินทางจะมาหยุดพักรับประทานอาหาร รับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือเคลื่อนเชื่อมไปต่อยังจุดชมวิวต่างๆ ก็สามารถเดินต่อไปไม่ไกลนัก
ส่วนที่พักของผมนั้นห่างออกมาประมาณ 200 เมตรเป็นบ้านหลังเล็กๆ ที่ติดกับภูเขาซึ่งปกคลุมด้วยหิมะ
เส้นทางแทรคกิ้งต่างๆ ภายในอุทยานแห่งนี้มีประมาณ 7 เส้นทางบางแทรคใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง แต่บางแทรคต้องไปพักค้างคืนในหุบเขานานกว่า 1 วัน เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบใช้ชีวิตแบบ Outdoor แต่ขอบอกว่าคุ้มค่ากับทัศนียภาพกว้างใหญ่ไพศาล ดินแดนที่ธรรมชาติสุดแสนเวิ้งว้างทว่ารื่นรมย์
ผมเลือกเดินเส้น The Hooker Valley เป็นทางราบสลับกับขึ้นเขาราวๆ 4-5 กิโลเมตร ซึ่งในเว็บไซต์ของทางอุทยานจะขึ้นคำว่า Popular! หมายความว่าได้รับความนิยมอย่างสูง
จุดเริ่มต้นนั้นมาได้ทั้งจาก The Hermitage Hotel หรือบริเวณแคมปิ้งใหญ่ที่สุดของอุทยานคือ The White Horse Hill Camping Ground ก็สะดวกสบายเช่นเดียวกัน
ระหว่างทางมีจุดชมวิวให้แวะเก็บภาพสวยๆ สะพานข้ามแม่น้ำ Hooker ที่ไม่เคยเหือดแห้งจากภูเขาที่มีธารน้ำแข็งไหลมาอย่างไม่ขาดสาย The Mueller Glacier นับเป็นอีกไฮไลต์สำคัญที่พลาดไม่ได้
ช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะมีดอกลิลลี่สีขาวผลิบานแต่งแต้มสีสันให้เทือกเขาอัลไพน์เหล่านี้มีชีวิตชีวา
ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหายไป เมื่อยามเย็นมาถึงพวกเราเดินไปสำรวจรอบๆ อุทยาน ดื่มด่ำกับทัศนียภาพของ Mount Cook อย่างใกล้ยิ่งขึ้น ซึมซับอากาศบริสุทธิ์แห่งต้นฤดูหนาว
ค่ำคืนที่ท้องฟ้ามืดสนิท พื้นที่แห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่ดูดาวสวยสุดแห่งหนึ่งของ New Zealand แสงระยิบระยับของดาราจักรคือรางวัลสำหรับผู้มาเยือน
…ราตรีนี้อาจมีบางคนนอนนับดาว แต่บางคนเลือกที่จะ ‘นอนนับแกะ’ Mount Cook ได้ทำให้ภาพความฝันนั้นสวยงาม