สติ

ปลิดชีพตนเอง เป็นภาวการณ์ที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม ไม่ได้จำกัดเฉพาะดารา นักร้อง เกาหลี สหรัฐ อังกฤษ หรือคนทั่วไปในญี่ปุ่นเท่านั้น การฆ่าตัวตายเกิดขึ้นได้เสมอ ในประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน ด้วยสถิติฆ่าตัวตายโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข รอบ 20 ปี จากปี 2540 ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ  4,183 ราย ผ่านมาจนถึงปี 2559 สถิติทรงตัวอยู่ที่ 4,131 ราย

ที่ต้องหยิบยกปัญหาฆ่าตัวตายมาพูดกันบ่อยๆ ในตอนนี้ เพราะเรื่องน่าเศร้าแบบนี้กำลังมีให้เห็นมากขึ้น สะท้อนปมปัญหาที่สั่งสม สลับซับซ้อนที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และทำให้เห็นความร้ายแรงที่มากับความเงียบงัน จนยากที่ผู้ประสบปัญหาจะจัดการได้ และเลือก จบชีวิต โดยลำพัง

และบางรายเลือกที่จะจบชีวิตผู้อื่น ซึ่งสถิติการฆ่าผู้อื่นก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งฆ่าคนในครอบครัว ฆ่าเพื่อนร่วมงาน ฆ่าเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน และฆ่าแม้คนที่ไม่เคยรู้จัก สะท้อนปัญหาใหญ่ในสังคมบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด ที่แพร่ระบาดไปทุกหย่อมหญ้า ไม่เคยลดลง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาสะสมในที่ทำงาน ความใจร้อนเมื่อนั่งหลังพวงมาลัย หรือโรคใหม่อย่างอาการติดเกมส์ มือถือ ติดโลกโซเชียล และปัญหาประวัติศาสตร์ประจำชาติ คือ ความยากจน

ปัญหาทั้งหมดนี้ เมื่อผู้กระทำ หรือถูกกระทำไม่คิดแก้ไขอย่างจริงจัง ปล่อยให้เวลาผ่านไปนับวัน เดือน ปี จนมัดเป็นเงื่อนปมแน่น หากตนเอง หรือคนในครอบครัวและคนรอบข้างไม่รักกันมากพอ  เพิกเฉยที่จะสละเวลาหาทางออกที่ถูกทิศทาง นำมาสู่ความเครียดสะสม ส่งต่อเป็นสายธาร สู่ความเกลียดชัง การทำร้ายกัน หรือไม่ก็เลือกโทษตัวเอง และซึมเศร้า”  

การตายจากกัน จึงเป็นหนทางที่หลายคนเลือก ไม่ว่าจะเลือกเอง หรือจำใจต้องเลือก เพราะคนอื่นกระทำก็ตาม

เมื่อเป็นอย่างนี้หลายต่อหลายหน่วยงานที่สะกดรอยตามปัญหานี้มาตลอดอย่างกรมสุขภาพจิต เลยสร้างเครื่องมือขึ้น เพื่อแก้ปัญหาให้สังคมไทย เครื่องมือที่ว่านี้ คือ สติ

น่าแปลกที่ สติถูกนำมาพูดกันในยุค 4.0 ยุคที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว คนน่าจะเคลิบเคลิ้มกับความก้าวหน้าของมัน และปล่อยให้ชีวิตให้ไหลไปตามที่เทคโนโลยีจะนำพาไป แต่กลับพยายามหยุดด้วยสติไม่เฉพาะหน่วยงานรัฐ แม้แต่เจ้าขององค์กรอย่างไมโครซอฟ กูเกิ้ล ยังนำ สติ มาใช้ในการบริหารองค์กร

ไทย ประเทศแห่งพุทธศาสนา มีพระพุทธเจ้าเป็นศาสดา ผู้ที่ทำให้ “ธรรมะ” อุบัติขึ้นบนโลกใบนี้ อันเป็นรากฐานแห่งสตินั้น  มีหรือจะไม่เห็นความสำคัญของ สติ

สร้างสุขด้วยสติในองค์กร (Mindfulness in Organization : MIO) ที่มาพร้อมการพัฒนาเครื่องมือเป็นรูปธรรม ที่เรียกว่า หลักสูตร MIO หรือโปรแกรมการสร้างสุขด้วยสติ มีคุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตเป็นแม่งาน กำลังถูกพูดถึง และได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในตอนนี้

สติ

หลักสูตรนี้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.thaimio.com หรือจะเข้าโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการของกรมสุขภาพจิต มีข้อกำหนดเพียงต้องทำติดต่อกัน และนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผล ที่สำคัญต้องเป็นองค์กรที่ผู้นำต้องการนำเครื่องมือนี้ไปใช้ให้เป็นวิถีแห่งองค์กร ให้เป็นองค์กรแห่งสติ”  ซึ่งพันธนาการด้วย ตนเอง ทีม และองค์กร ค้ำจุนซึ่งกันและกัน โดยมีสติเป็นแกนกลาง

หลักสูตรเรียกสติ ตอนนี้ ผู้นำรายองค์กรที่มองเห็นปัญหาในบริษัท สำนักงาน หรือหน่วยงาน พากันมาเรียนรู้เครื่องมือนี้กันแล้ว เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งในองค์กร แก้ปัญหาการลาออกบ่อยๆ ของพนักงาน และเพื่อใช้ในการบริหารองค์กร เพื่อออกแบบใหม่ให้การทำงาน การอยู่ร่วมกันของทีมพนักงาน และการประชุมมิติใหม่ที่เป็น สติสนทนา เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์มากกว่าเกิดคู่ขัดแย้ง

สติ

สติ

หลักสูตร MIO สาระก็มีอยู่ 3 เรื่อง คือ การทำสมาธิก่อนและหลังเลิกงาน การเปิดระฆังสติเพื่อส่งเสริมการทำงานอย่างมีสติ การจัดกติกาการการประชุมให้มีการทำสมาธิก่อนการประชุม เพื่อการสนทนาอย่างมีสติ  และเต็มไปด้วยความคิดทางบวก  เป็นต้น

นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้เฉพาะบุคคล สำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต แม้แต่ในแคนาดา ก็สนใจในเครื่องมือนี้ โดยให้คุณหมอจัดเวิร์คช็อปติดต่อกันหลายครั้ง

คุณหมอ เล่าว่าผู้ประสบปัญหาคนหนึ่งเปลี่ยนไป จากที่มีภาวะซึมเศร้าอาการหนักต้องใช้ยาติดต่อกัน และครอบครัวแตกสลายมานานกว่า 10 ปี หลังจากเข้าเวิร์คช็อป ซึ่งใช้เวลาราว 6 เดือน  เธอกลับไปมีชีวิตตามปกติ ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ และสามารถจัดการความสัมพันธ์กับลูกชายได้อย่างดี ขณะที่ผู้ประสบปัญหาซึมเศร้าในไทยก็หายป่วยด้วยโรคนี้ และกลับไปทำงานตามปกติในที่ทำงานเดิม ที่ที่เธอเคยลาออก เพราะคิดเอาเองว่าทำงานไม่ดี ทั้งที่หัวหน้างานยอมรับการทำงานของเธอมาตลอด

สำหรับวิธี เรียกสติและสมาธิ ตาม MIO ทำอย่างไร ! ติดตามใน ตอน#2

สติ