ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักร่างสุนทรพจน์มือหนึ่ง ด้วยถ้อยคำที่ทรงพลานุภาพทางประวัติศาสตร์และการเมือง…“จอน ฟาฟโรว์” (Jon Favreau) ผู้เติมมนต์เสน่ห์เวทีปราศรัยของ บารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาให้เป็นที่กล่าวขวัญถึงไปทั่วโลก
“บารัคเชื่อมั่นในตัว Favreau และไม่เคยเชื่อใจใครอื่นเลยที่จะร่างสุนทรพจน์ให้กับเขา“ เดวิด อเบล รอด อดีตที่ปรึกษาอาวุโสทำเนียบขาวกล่าวถึง Speech Writer คนเก่ง
คำถามก็คือ แล้วโอบามาเห็นอะไรในตัว Favreau?…พลังในการทำงานหรือความคิดสร้างสรรค์ ถึงยอมมอบตำแหน่งหัวหน้าทีมเขียนสุนทรพจน์ประจำ White House พร้อมทีมงานนับ 10 ชีวิตในช่วงที่เขาบริหารประเทศปี 2008-2016
ย้อนกลับไป 4 ปีก่อนหน้านั้น ทั้งสองคนพบกันในห้องประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครต โอบามาได้รับการเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกรัฐอิลลินอยส์และมีคิวที่จะต้องขึ้นปราศรัย แต่สุนทรพจน์ดันไปละม้ายกับ John Kerry ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่ง Favreau เป็นหนึ่งในทีมผู้เขียนสุนทรพจน์ฉบับนั้น
เขาจึงเดินมาหาโอบามาและแจ้งว่ามีคำพูดสำคัญใน Speech ของโอบามาซ้ำกับของ John Kerry ความละเอียดละออเอาใจใส่และศึกษาความเป็นไปของผู้สมัครอย่างดี ถือเป็นคุณสมบัติแรกที่โอบามาทึ่ง! เด็กเพิ่งจบมหาวิทยาลัยหมาดๆอย่าง Favreau
ด้วยวัยเพียง 23 ปีคงไม่คิดว่า วุฒิสมาชิกผิวสี คนที่เขาปรี่เข้าไปพูดคุยด้วยนั้นจะกลายเป็นหนึ่งในประธานาธิบดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21
สี่ปีต่อมา…เมื่อโอบามามีชัยในศึกเลือกตั้งครั้งที่ 56 และเข้ารับตำแหน่งต่อจาก จอร์จ ดับเบิลยู บุช รับมรดกตกทอด 2 เรื่องคือ ภาวะสงครามในตะวันออกกลางและวิกฤตการณ์การเงิน ท่ามกลางสังคมอเมริกันอันสลับซับซ้อน เขาไม่ลังเลที่จะเรียกตัว Jon Favreau มาเป็นหนึ่งในสต๊าฟ เริ่มการทำงานในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 44 ของสหรัฐ
เวทีแรกคือ การกล่าวสุนทรพจน์ขอบคุณประชาชนที่เลือกผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตเมื่อปี 2008 โอบามาเปล่งประกายผู้นำฝีปากกล้า ด้วยคาแรคเตอร์ที่สร้างความประทับใจเมื่อแรกเห็น เกิดเป็นความเปลี่ยนแปลงตามแคมเปญหาเสียงที่เรียกร้องให้คนอเมริกัน Change!
“รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในรอบสองศตวรรษ…และนี่คือชัยชนะของพวกคุณทุกคน”
Speech ของโอบามาซึ่งร่วมกันกับ Favreau ยกร่างขึ้นเพื่อวันสำคัญดังกล่าวได้รับการยกย่องว่าเต็มไปด้วยถ้อยคำที่ให้เกียรติแก่ผู้แพ้ซึ่งกำลังขมขื่น…ได้อย่างน่าชื่นชม
“เราฟังคุณ เราได้ยินคุณ และผมจะเป็นประธานาธิบดีของคุณเช่นเดียวกัน”
Favreau ทราบดีว่าชาวอเมริกันกำลังหมดศรัทธากับปัญหาเศรษฐกิจเพราะวิกฤตการเงินโหมกระหน่ำ ถึงเวลาต้องโปรยความหวังให้เกิดขึ้น
“การเลือกตั้งวันนี้ แม้มีผู้ชนะ แต่มันก็คงไม่ใช่จบลงตรงนี้ เราไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ถ้าขาดพวกคุณหรือขาดจิตวิญญาณของคุณ”
และในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 44 (The inauguration of the President of the United States) อย่างเป็นทางการ ณ อาคารรัฐสภาสหรัฐ หรือ Capital Hill เมื่อ 20 มกราคม 2009 ปรากฎสถิติบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ที่ชาวอเมริกันเข้าร่วมมากที่สุดถึง 1.8 ล้านคน
แน่นอนนี่ไม่ใช่แค่ชัยชนะของเดโมแครต แต่เป็นเสียงกึกก้องของคนผิวสีและคนชั้นล่าง ที่รู้สึกเหมือนถูกกดขี่ทางการเมืองมาตลอดนับตั้งแต่ Abraham Lincoln ประกาศเลิกทาสเมื่อปี 1862
ไฮไลต์สำคัญในวันนั้นก็คือสุนทรพจน์ต่อหน้าผู้ฟังมหาศาล ซึ่งเป็นการบ้านของ Favreau …
เขาไม่ได้ศึกษาเฉพาะแนวคิดและทิศทางนโยบายรัฐบาล บารัค โอบามา เท่านั้นแต่ยังต้องนั่ง ‘ไทม์แมชชีน’ ย้อนกลับไปเรียนรู้เลือดและน้ำตา กว่าระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา จะเดินทางมาถึง ณ จุดนี้
เขาไล่อ่านสุนทรพจน์เก่าๆ ของMartin Luther King, Abraham Lincoln, John F. Kennedy รวมถึง Franklin D. Roosevelt เพื่อให้ทุกถ้อยความในประวัติศาสตร์ ซึมซาบสู่ปลายปากกา
“Today we gather because we have chosen hope over fear”
“เรามารวมตัวกันเพราะเราได้เลือกความหวังให้อยู่เหนือความกลัว”
สุนทรพจน์ของโอบามาในวันนั้น ยังอุทิศความดีงามให้แก่ดวงวิญญาณของผู้เสียสละชีวิตเพื่อสร้างชาติ “รัฐธรรมนูญต้องแลกมาด้วยเลือดของบรรพชนรุ่นแล้วรุ่นเล่า อุดมการณ์เหล่านี้ยังส่องสว่างต่อโลก และเราจะไม่ล้มเลิกความตั้งใจ”
Favreau เลือกที่จะกล่าวถึงการปฏิวัติของชาวอเมริกันผู้รักชาติ ซึ่งต้องการปลดแอกจากรัฐอาณานิคมเมื่อกว่าสองร้อยปีก่อน…รอบกองไฟในคืนหนาวเหน็บ ริมฝั่งแม่น้ำยะเยือกไปด้วยเกล็ดน้ำแข็ง
“วันที่หิมะเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือด ช่วงเวลาที่คนจำนวนมากกังขาต่อผลลัพท์ของการปฏิวัติ บิดาผู้สร้างชาติอเมริกา กล่าวถ้อยคำนี้แก่ประชาชน….จงบอกคนบนโลกนี้ในภายภาคหน้าว่าฤดูหนาวสุดขมขื่น เป็นช่วงเวลาที่คุณงามความดีเท่านั้นจะสามารถอยู่รอด ชาวเมืองและผู้คนบนแผ่นดินไม่หวาดหวั่นและพร้อมเผชิญหน้ากับภยันตราย”
ในระหว่างการบริหารประเทศของโอบามา เขาต้องเดินทางไปปราศรัยหรือพูดต่อสาธารณชนหลายครั้ง หนึ่งในสปอตไลต์สำคัญคือการไปเยือน เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์ ที่ตั้งของรัฐสภาอังกฤษ เพื่อตอกย้ำถึงการเป็นพันธมิตรอันเหนียวแน่นของทั้งสองชาติ
ดูเหมือนจะเป็นสุนทรพจน์ที่น่าลำบากใจ? เพราะอังกฤษก็คืออดีตเจ้าอาณานิคมของแผ่นดินอเมริกา เลือดและนำ้ตาแห่งบรรพบุรุษอเมริกัน ได้สูญเสียไปก็เพราะการต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศสู่อิสรภาพ
“หลายศตวรรษก่อน ยุคที่พระมหากษัตริย์ จักรพรรดิ และขุนศึกปกครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ อังกฤษเป็นชนชาติแรกที่สะกดคำว่าสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ในรัฐธรรมนูญแม็คนาคาต้า ณ ที่แห่งนี้ ในห้องโถงแห่งนี้ หลักนิติธรรมถูกพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรก”
จะเห็นได้ว่า สุนทรพจน์ของ Favreau เปรียบดัง ‘เงาความคิด’ บารัค โอบามา มีการกล่าวถึงมิติของเวลา โฉมหน้าทางประวัติศาสตร์ เชิดชูคุณค่าแห่งสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ก่อนยกย่องมิตรภาพที่มีให้แก่กันสู่ความหวังที่สดใส
ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนว่าทั้งสองคนย่อมมีความคิดที่คล้ายๆ กัน มี ‘อุดมคติ’ ที่ไม่แตกต่าง เมื่อคนนึงร่างเนื้อหา อีกคนทำหน้าที่ถ่ายทอดออกมาได้อย่างไม่มีที่ติ กินใจผู้ชม ผู้ฟัง เรียกเสียงปรบมืออย่างกึกก้อง
โอบามา ชนะการเลือกตั้งสมัยที่ 2 อย่างไม่ยากเย็นนัก … เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2012 เขาก้าวขึ้นเวทีขอบคุณประชาชนอีกครั้งที่ชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ดูเหมือนว่าความจัดเจนเวทีของโอบามาและเนื้อหาที่ได้รับจาก Favreau ยังคงโดดเด่นในเรื่อง ‘ปฏิสัมพันธ์’ กับผู้คนภาคส่วนต่างๆ ทั้งคนเล็ก คนน้อย และคนสำคัญในประวัติศาสตร์ สร้างอารมณ์ร่วมได้เสมอๆ
“ประเทศนี้มีความมั่งคั่งมากกว่าประเทศอื่นๆ แต่นั่นก็ไม่ทำให้เรารวย…
พวกเรามีกองทัพที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่นั่นก็ไม่ทำให้พวกเราแข็งแกร่ง
มหาวิทยาลัยของพวกเรา วัฒนธรรมของพวกเรา เป็นที่น่าอิจฉาสำหรับคนทั่วโลก แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้โลกเข้าหาเรา
สิ่งที่ทำให้อเมริกามีความพิเศษ คือการเป็นผู้เชื่อมร้อยชาติที่มีความหลากหลายในโลกเข้าด้วยกัน ว่าพวกเราประสบชะตากรรมเดียวกัน
ประเทศนี้จะดำเนินต่อไปได้เมื่อพวกเรายอมรับในหน้าที่ของกันและกัน
สิทธิเสรีภาพซึ่งชาวอเมริกันจำนวนมากต่อสู้และยอมตายจะต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ
ความรัก ความเอื้อเฟื้อ หน้าที่ และความรักชาติ นั่นคือสิ่งที่ทำให้อเมริกายิ่งใหญ่”
Favreau ทำงานกับรัฐบาลโอบามารวม 8 ปี เขาบอกว่าสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือหนังสืออัตชีวประวัติ The Dream of his father เพื่อให้เสียงของผู้นำสหรัฐ วนเวียนอยู่ในหัวของเขาตลอดเวลาที่ยกร่างสุนทรพจน์
speech writer ผู้เป็นไอดอลของเขาก็คือ Peggy Nunan อดีตนักข่าว นักเขียน และผู้ร่างสุนทรพจน์ให้กับประธนาธิบดี โรนัลด์ เรแกน รวมถึง Michael Gerson ผู้รับผิดชอบคำกล่าวให้กับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช โดยเฉพาะการรำลึกในเหตุการณ์โศกนาฎกรรมก่อการร้ายตึกเวิลด์เทรด เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001
ปัจจุบัน Favreau กำลังสนุกสนานกับความท้าทายครั้งใหม่หลังหมดภาระไปตาม “วาระ” การดำรงตำแหน่งของอดีตปธน.โอบามา แต่ดูเหมือนว่า ความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงที่สั่งสมมา ทำให้หลายๆ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านมีเดียเอเจนซี่ต้องการตัวเขาอย่างมาก
Favreau เลือกเดินบนทางของตัวเอง ด้วยการสร้างนวัตกรรมสื่อสารและก่อตั้งบริษัท Crooked Media ผลิตแคมเปญ Pod Save America ถ่ายทอดความคิด ความเห็นทางการเมือง ด้วยเสียงทีเล่นทีจริงของเขาและเพื่อนร่วมก๊วนอีก 2-3 คน ผลัดเปลี่ยนกันพูดคุยในหัวข้อต่างๆ ที่สังคมอเมริกันกำลังให้ความสนใจ
แน่นอนว่าหลายๆ Topic ที่นำมาวิพากษ์วิจารณ์นั้น เกี่ยวพันกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยตรง ทั้งเรื่องภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศ เช่นกรณีอิหร่าน ยิว และแน่นอนว่าเขาไม่ลืมที่จะยกย่องแนวทางของอดีตผู้นำทำเนียบขาวอย่างบารัค โอบามา
Pod Save America ใช้สโลแกนเก๋ๆ ว่า “A political podcast for people not yet ready to give up or go insane” มียอดผู้รับฟังมากกว่า 1 ล้านคนทั่วโลกและกำลังเป็นกระแสใหม่ที่ถูกใจคอการเมืองทั้งหลาย
“รายการวิทยุออนไลน์ที่สนทนาเรื่องการบ้านการเมือง สำหรับคนที่ไม่พร้อมจะยอมแพ้และเป็นบ้า”
สามารถฟังทรรศนะของ Jon Favreau และบทบาทใหม่ของเขาได้ทั้งทางเวปไซด์ crooked.com และทาง tunein.com