‘ถ้าจินตนาการสำคัญกว่าความรู้’ เหมือนที่ไอน์สไตน์บอก โลกดิจิทัลก็กำลังทำให้เด็กๆ ลืมเป้ที่แบกไว้ชั่วคราว แล้วก้าวไปสู่ความฝันอย่างสนุกสนานและมีสีสัน
หนึ่งในนั้นคือโลกของ E-Sport การแข่งขันเกมออนไลน์ซึ่งขณะนี้กำลังบูมสุดๆ กระทั่งน้องๆ หลายคน มุ่งหวังจะเป็นนักกีฬาหน้าใหม่หรือไม่ก็นักพากย์เกมมืออาชีพ Game Caster ระดับโลกอย่างจริงจัง…
เราได้สัมภาษณ์ คุณณัฐพัชร์ รัตน์อนากุล แม่น้อง ‘โปรด’ ปฏิพัทธิ์ รัตน์อนากุล นักเรียนชั้น ม.5 ผู้เข้าใจในความรัก ความฝันของลูก
และด้วยการสนับสนุนของคุณแม่ทำให้น้องโปรดได้รับการสนับสนุนให้เป็น ‘ประธานชมรม E-Sport โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา’ คนแรกของสถาบันการศึกษาอันดับหนึ่งด้านวิชาการของประเทศไทย
คุณณัฐพัชร์ให้มุมมองดีๆในเรื่องนี้ไว้…
- มุมมองของคุณแม่กับกีฬา อี–สปอร์ต
คุณณัฐพัชร์ : แต่ก่อนคนจะมองว่าเกมออนไลน์ทำเด็กเสียคนมานักต่อนัก แต่ปัจจุบันเกมออนไลน์ได้พัฒนามาเป็นอีสปอร์ต มีการจัดแข่งขัน ทัวร์นาเมนท์ระดับประเทศและนานาชาติด้วย กลายเป็นกีฬาในฝันของวัยรุ่นหลายๆ คน แม่ก็ได้ติดตามน้องโปรดมาพอสมควรถือว่าน่าสนใจ แล้วประเทศไทยก็รับรองแล้ว
- สำคัญคือต้องรักษาเวลา รู้จักหน้าที่
คุณณัฐพัชร์ : จริงๆ แม่และครอบครัว ก็ยังไม่ได้สนับสนุนเต็มตัวนะคะ แต่เราติดตามน้องโปรด เห็นเค้ามีความสุข สนุกที่มาทำตรงนี้ คิดว่าถ้าเค้าแบ่งเวลาได้ ทำหน้าที่หลักที่ต้องรับผิดชอบดีในระดับหนึ่ง จึงไม่ซีเรียส ….วันที่มีเรียน น้องโปรดจะไม่เล่นเลย วันเสาร์อาทิตย์ที่มีเวลาว่าง ก็อยู่หน้าจอ….แต่กีฬาออกกำลังกายน้องโปรดก็เล่นด้วย อย่างช่วง ม.ต้น น้องเป็นนักบาสเก็ตบอลโรงเรียน มาอยู่เตรียมฯ ก็เล่นต่อ รวมถึงเทนนิสด้วย ถ้าเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตก็ต้องรู้จักแบ่งเวลาและดูแลเรื่องสุขภาพ
- ยากแค่ไหนกับชมรมอีสปอร์ตที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
คุณณัฐพัชร์ : …เมื่อต้นเทอม ม.5 น้องขอจัดตั้งชมรมอีสปอร์ต อาจารย์อาจจะมองว่าแปลกๆ มาตั้งอยู่ที่โรงเรียนอันดับหนึ่งของประเทศ แต่ความชอบ ความรัก ก็ทำให้เค้าประสบความสำเร็จ …. เค้ามาเล่าว่า วันที่มาออดิชั่นเพื่อคัดเด็กๆ เข้าชมรม จะรับได้ 35 คน ปรากฎว่ามีพี่ๆน้องๆ เกือบสองร้อยคนมาออดิชั่นกัน”
- อยากฝากอะไรกับผู้ดูแลนโยบาย
คุณณัฐพัชร์ : ฝากถึงทุกๆ ท่านที่มองว่าลูกติดเกมในขณะนี้ หันมามองอีกมุมหนึ่ง แนะนำให้เค้าฝึกซ้อม ทานอาหาร ทำหน้าที่หลักคือเรียนหนังสือ ฝากถึงผู้ใหญ่ในประเทศตอนนี้ด้วยว่ากีฬาอีสปอร์ต ยอมรับในประเทศเราแล้ว หลังจากนี้จะแข่งในมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ด้วย ก็ถือเป็นการสร้างโอกาสที่สำคัญค่ะ
มาถึงคุณแม่อีกท่านหนึ่งซึ่งส่งเสริมแรงบันดาลใจของลูกที่มีความฝันอยากเป็นนักบรรยายเกมคุณฐานิต ลิมปสุธรรม แม่น้องเจ็ม Game Caster คนรุ่นใหม่ ด.ช.ภาวิต ลิมปสุธรรม จากโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์
น้องเจ็มไม่เคยเรียนเมืองนอกแต่สามารถ Cast เป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วด้วยการฝึกฝนทักษะของตัวเองจากการดู Caster ชื่อดังๆในต่างประเทศจาก YouTube
- เกมออนไลน์ได้ทักษะภาษา
คุณฐานิต : การสนับสนุนน้องเจ็มเป็นนักแคสเกม เพราะมีศักยภาพทางด้านภาษาอังกฤษ เค้าอยากเป็น Game Caster ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้เชื่อมั่นว่าเด็กไทยก็แคสเกมเป็นภาษาอังกฤษได้ …แต่ก็สร้างสมดุลในการเรียน เล่นเกม จัดการตัวเองได้ค่อนข้างดี และแบ่งเวลาทำภารกิจให้เรียบร้อยก่อน
- กระแสสังคมกดดันพ่อแม่หรือไม่
คุณฐานิต : ใช่ค่ะ ข่าวที่ออกมาเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพหรือเด็กติดเกมนั้น มีผลกระทบต่อผู้ปกครองอย่างมาก แต่ถ้าเราปรับ Mindset ให้ตรงกับลูก ปัญหาก็จะเกิดขึ้นน้อยลง ความกังวล ครอบครัวจะดีขึ้น …. แน่นอน ในฐานะพ่อแม่ก็จะกังวลเรื่องสุขภาพ ตา สรีระ ในการเล่นอีสปอร์ต เราก็ต้องให้คำแนะนำน้องเจ็มว่า เราควรดูแลอย่างไร เรื่องตา การนั่งต่างๆ
- เป้าหมายน้องเจ็มคือ Game Caster ระดับโลก
คุณฐานิต : แม่พร้อมส่งเสริมเต็มที่ ถ้าเค้ามีใจรัก มีศักยภาพจะทำด้านนี้ อยากให้สังคมหรือหน่วยงานภาครัฐสนับสนุนอาชีพ Game Caster อาจจะต้องมีการโคชชิ่ง ให้นักบรรยายเกมมืออาชีพ มาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กหรือให้แนวคิดที่ดีๆ
- การเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์สามารถเกิดขึ้นได้จริงๆ
คุณฐานิต : สังคมมองกระแสการเล่นเกมว่าไร้สาระ เบียดบังเวลาทำอะไรที่เป็นประโยชน์ ก็อยากให้หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ปรับความเข้าใจ มองตัวเด็ก ผู้ปกครอง และให้ดูความเป็นไปของกระแสสังคมด้วยว่า ทัศนคติการเล่นเกม ไม่ได้มีแต่แง่ลบอย่างเดียว แต่ยังมีทักษะต่างๆ การคิด การวางแผน หลายๆ อย่างที่เป็นประโยชน์เช่นกัน…..สามารถยกระดับอาชีพ สร้างรายได้ แต่ต้องปรับทัศนคติของเด็กด้วยว่าวิธีจะใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมอย่างไร ไม่ใช่เล่นมากซะจนเป็นเด็กติดเกม เล่นอย่างไม่มีจุดหมาย….