[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widget_Image_Widget”][/siteorigin_widget]
พลันที่แอร์บัส A340-500 เที่ยวบิน RTAF 225 Landing’ ที่สนามบินลอนดอน ประเทศอังกฤษ วันที่ 21 มิถุนายน คำถามมากมายก็เกิดขึ้นกับการเดินทางเยือนอียู ของลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

ไม่เพียงแผ่นดินอังกฤษและฝรั่งเศส ลึกๆ แล้วเป้าหมายของทริปผู้นำไทย ยังเล็งไปที่หัวใจของอียูก็คือสำนักงานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม

“การไปเยือนสหภาพยุโรปครั้งนี้ ลึกๆ แล้วผู้ที่ออกแรงมากคือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ขอให้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ เตรียมการอย่างดี นอกจากฝรั่งเศสกับอังกฤษแล้ว ยังจัดโปรแกรมไปเยือนเยอรมันนีและเบลเยี่ยมด้วย แต่การปรับโปรแกรมไปมาและการประสานงานที่ไม่ลงตัว ทำให้โปรแกรมหลังสุดเหลือเพียง 2 ประเทศเท่านั้น” 

แน่นอนว่า สิ่งที่ ดร.สมคิดคาดหวัง คือภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จับมือเชคแฮนด์กับ นางเทเรซ่า เมย์ ณ บ้านเลขที่ 10 ถนน Downing Street จะสั่นสะเทือนในทางการเมืองที่ประเทศประชาธิปไตยและเทิดทูนระบบรัฐสภา อ้าแขนรับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง นั่นส่งผลดีกับไทยทั้งในและต่างประเทศ  

ย้อนกลับไปดูการเดินทางระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายน 2561 เริ่มต้นจากการที่ นายอล็อก ชาร์มา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร รับผิดชอบด้านเอเชียและแปซิฟิก มาเยือนไทยในเดือน ม.ค.2561 และได้หารือกับ ดร.สมคิดถึงความร่วมมือกันระหว่างสองประเทศในด้านต่างๆ 

และต่อมา ดร.เลียม ฟอกซ์ รมว.กระทรวงการค้าระหว่างประเทศสหราชอาณาจักร ก็เดินทางเยือนประเทศไทย เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยถือเป็นรัฐมนตรีการค้าของสหราชอาณาจักรคนแรกที่ในรอบ 15 ปีที่เดินทางมาไทย และได้หารือกับ ดร.สมคิด เกี่ยวกับด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ 

Mr.Alok Sharma ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร เข้าเยี่ยมคารวะรองนายกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561

นาย Liam Fox รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศสหราชอาณาจักรเข้าเยี่ยมคารวะรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2561

หลังจากนั้น สำนักนายกรัฐมนตรีของอังกฤษได้ส่งจดหมายเชิญมายังไทย 2 ครั้ง เพื่อขอให้เราจัดคณะไปเยือนเพื่อหารือประเด็นเศรษฐกิจเพิ่มเติม 

ขณะที่การเยือนฝรั่งเศส เกิดจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีความร่วมมือกับบริษัทด้านการบินขนาดใหญ่คือ บริษัท แอร์บัส และลงนามในการทำโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ที่สนามบินอู่ตะเภา 

ฝรั่งเศสยังเคยส่ง นายฌองบาติสต์ เลอมวน (Jean-Baptiste Lemoyne) รมช.กระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส มาหารือกับ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ได้เชิญชวนให้ไทยส่งคณะไปเยือนฝรั่งเศส จนนำมาสู่การเดินทางไปในครั้งนี้ 

นายฌอง-บาติสต์ เลอมวน (Jean-Baptiste Lemoyne) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล)

ไม่ว่าจะมองมิติไหนทั้ง 3 ชาติ คือ ไทย ฝรั่งเศส และอังกฤษ มีอะไรที่เชื่อมโยงกันก็ได้ ตั้งแต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ วิกฤตทางการเมือง และเรื่องที่ประเทศไทยจะเป็น ประธานอาเซียนในปี 2019’ ย่อมมีอิทธิพลโน้มน้าวมหาอำนาจได้ทั้งสิ้น

อังกฤษ กำลังพยายามยืนหยัดกลับมาเป็นผู้นำอีกครั้ง หลังจากออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป ประเด็นเป้าหมายในการหารือคือความต้องการ การจัดทำ เขตการค้าเสรี(FTA) ไทยอังกฤษ 

“อังฤษจำเป็นต้องหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการค้าเพิ่มขึ้น และไทยจะเชิญชวนนักลงทุนจากอังกฤษซึ่งมีศักยภาพหลากหลายสาขา ให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 กลุ่ม รวมถึงเปิดกว้างให้ธุรกิจการศึกษาหลายมหาวิทยาลัยในอังกฤษ ที่เริ่มออกไปลงทุนในต่างประเทศมาตั้งสาขาในเมืองไทย พัฒนาเยาวชนต่อไป”

ทางด้านฝรั่งเศสนั้น ไทยจะเน้นหารือเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเชิญชวนมาลงทุนโดยจะเน้นอุตสหกรรมการบิน และยังเริ่มพัฒนาโครงการดาวเทียม ธีออส 2’ การเดินหน้าอุตสาหกรรมด้านดิจิทัล โดยเฉพาะดิจิทัลทรานฟอเมชั่น ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ ไอโอที เชิญชวนสตาร์ทอัพเลือดน้ำหอมมาลงทุนในไทย  

ประเทศไทยจะขอร้องให้ฝรั่งเศสในฐานะประเทศที่มี Power ของ EU ช่วยผลักดันให้สหภาพยุโรป เริ่มการเจรจาเดินหน้า FTA ไทยสหภาพยุโรปอีกครั้ง หลังหยุดการเจรจาไปตั้งแต่รัฐบาลคสช.เข้ามา ซึ่งนายกฯ จะแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของเราว่ายังต้องการผลักดันเรื่องนี้อยู่

ทั้งนี้ จะมีการลงนามในสัญญาดาวเทียมธีออส 2 วงเงิน 7,800 ล้านบาท ซึ่งไทยมอบให้บริษัท Airbus Defence & Space SAS  ทำการก่อสร้าง ซึ่งดาวเทียมนี้ใช้ประโยชน์หลายด้าน ทั้งในด้านน้ำ ด้านการเกษตร ด้านภัยพิบัติ ทรัพยากรธรรมชาติ การวางผังเมือง รวมทั้งในด้านความมั่นคง โดยบริษัท Airbus Defence ถือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของฝรั่งเศสที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีด้านการทหาร ดังนั้นการลงทุนในครั้งนี้เห็นถึงการให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคง 

นอกจากนั้นทั้งสองประเทศจะได้หยิบยกเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ขึ้นมาหารือด้วย

สำหรับฝรั่งเศสต้องการหารือถึงประเด็นการบริหารสนามบินและเมืองการบินอู่ตะเภา ซึ่งขณะนี้เรากำลังพัฒนาขยายเป็นสนามบินนานาชาติ รองรับการเปิด EEC แต่อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ ซึ่งภาคเอกชนของฝรั่งเศสสนใจที่จะเข้ามาบริหาร ซึ่งฝ่ายไทยจะต้องพิจารณาแนวทางและความเป็นไปได้อย่างรอบด้าน รวมทั้งผลกระทบที่อาจมีต่อความมั่นคงในอนาคต

เมื่อไล่เรียงลำดับกำหนดการของ ทริปลุงตู่ ครั้งนี้ ก็จะเห็นยุทธวิธีทางการทูตและประเด็นต่างๆ ที่มีนัยซ่อนอยู่ในทุกอณูของการเดินทาง จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าประเทศไทยใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือทางทูต และชาติมหาอำนาจแห่งยุโรปสนใจเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าสิทธิมนุษยชน

21  มิ.ย. หลังไปพบ นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวเปิดงาน ‘Transforming Thailand’  ณ โรงแรมเดอะ แลนด์มาร์ค ลอนดอน จากนั้นฟังบรรยายสรุปและดูงานเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรบุคคลของ บริษัท เพียร์สัน ซึ่งเป็นหลักสูตรด้านอาชีวศึกษา ณ สำนักงานใหญ่บริษัท เพียร์สัน ก่อนไปพบปะชุมชนไทยในสหราชอาณาจักร

22 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางต่อไปถึงสนามบิน ตูลูส บลาญัก สาธารณรัฐฝรั่งเศส พบหารือกับ นายกีโยม โฟรี ประธานบริษัท Airbus Commercial Aircraft ณ บริษัท Airbus Commercial Aircraft  เมืองตูลูส  และเข้าร่วมพิธีเปิดตัวแบบจำลองศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO)  และเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลงสัญญากรอบการร่วมทุน (Joint Venture Company Principles Agreement) ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับบริษัท Airbus Commercial Aircraft จากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะเยี่ยมชมศูนย์แสดงแบบจำลองอากาศยานของ Airbus (Airbus Mock-up Center) และเยี่ยมชมศูนย์สายการผลิตของชิ้นส่วนอากาศยาน A380 (A380 Final Assembly Line)

23  มิ.ย. นายกรัฐมนตรีจะพบหารือภาคเอกชนไทยในสาธารณรัฐฝรั่งเศสและนักธุรกิจไทย ก่อนพบหารือและมอบนโยบายแก่ทีมประเทศไทย ณ กรุงปารีส

24 มิ.ย. นายกรัฐมนตรีจะปฎิบัติภารกิจ ณ กรุงปารีส

25 มิ.ย. นายกรัฐมนตรีหารือกับภาคเอกชนฝรั่งเศสที่สนใจลงทุนในประเทศไทย ณ แซร์กเลอ เดอ ลูนิยง แองแตร์อัลลิเย่ (Cercle de l’Union Interalliée) และกล่าวเปิดงาน Business Conference จัดโดยสภานายจ้างฝรั่งเศส (Mouvement des entreprises de France – MEDEF Int’l) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนจะพบหารือกับภาคเอกชนฝรั่งเศสที่สนใจลงทุนในประเทศไทยกลุ่ม VINCI Group ได้แก่ นายนิโกลา โนเตอแบร์ (Mr. Nicolas Notebaert) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท VINCI Concessions ณ แซร์กเลอ เดอ ลูนิยง แองแตร์อัลลิเย่

ในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะเข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือทวิภาคีกับ นายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส  ณ ทำเนียบประธานาธิบดี ร่วมกันเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงสัญญากรอบการร่วมทุน (Joint Venture Company Principles Agreement) ระหว่าง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท Airbus Commercial Aircraft พร้อม สัญญาซื้อขายดาวเทียมธีออส 2  (THEOS II) ระหว่างสานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ  (องค์การมหาชน) – (GISTDA) กับบริษัท Airbus Defence & Space SAS  ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส จะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

ใครที่เคยประหลาดใจกับภาพ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไปทำเนียบขาว จับมือกับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ มาแล้ว ก็คงไม่ขัดเขินอะไรถ้าจะเห็นสื่อต่างประเทศลงรูปของ นายกรัฐมนตรีกับนางเทเรซ่า เมย์ หน้าบ้านเลขที่ 10 ถนน Downing Street และการไปปรากฎตัว ณ ทำเนียบประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ประเทศไทยต้องการ ขายภาพ สื่อสารกับโลกเสรีประชาธิปไตย แต่รัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศส ต้องการ ขายของ โดยยอมทิ้งหลักการไว้ข้างหลัง นี่คือการทูตของโลกสมัยใหม่อย่างแท้จริง

—————————————-

ที่มาภาพประกอบ : http://www.thaigov.go.th