หากใครเคยฟัง ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ปาฐกถาหรือพูดในงานสัมนาใหญ่ๆ จะทราบดีละครับว่า ท่านเป็นคนที่เรียกว่า มีวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ ควบคู่ไปกับศิลปะและมีพลังในการสื่อสารให้ผู้ฟังฮึกเหิม

ส่วนตัว ผมมีโอกาสได้ฟังหลายครั้ง และสังเกตเห็นว่า เวลาบรรยาย อาจารย์สมคิดจะไม่ใช้โพย ไม่ใช้พาวเวอร์พอยท์ ไม่พูดเยิ่นเย้อยืดยาว มุ่งเน้นสื่อสารสิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอดออกไปอย่างตรงประเด็น ใส่วาทศิลป์ เพียงหอมปากหอมคอ…พอดีๆ ครับ

ครั้งหนึ่ง อาจารย์สมคิด เล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังในการทำงานเป็นทีม เมื่อท่านต้องนั่งหัวโต๊ะบัญชาการเรื่องสำคัญ นำประสบการณ์ความเป็นนักการตลาด มาผสมผสานกับศาสตร์การเมืองยุคใหม่ นั่นคือการสรุปแกนหลักของเนื้อหาใจความให้เป็นคำพูดเพียง “ประโยคเดียว”

อาจารย์สมคิดบอกว่า “ตรงนี้คือส่วนสำคัญมากในการทำงาน” ช่วยให้การบริหารจัดการง่ายขึ้นเยอะ แล้วถ่ายทอดให้ทุกคนในทีมเข้าใจตรงกัน ด้วยถ้อยคำที่เฉียบคม

กลยุทธ์การใช้คำให้ทรงพลัง เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกๆ คน ต่างควรให้ความสำคัญโดยเฉพาะคนที่เป็นซีอีโอ นักธุรกิจ ข้าราชการ รัฐบาล ไปจนถึงนายกรัฐมนตรี การสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน แบบ “โดนใจ” ถือว่าขาดไม่ได้เลย

ยกตัวอย่างรัฐบาลชุดนี้ เราจะได้ยินสโลแกนสั้นๆ แต่ติดหู อย่างโครงการ “ประชารัฐ” “ประเทศไทย 4.0” หรือ “Stronger Together” จำได้ใช่มั้ยล่ะครับ หรือคนทั่วไป ซึ่งผมขอยกตัวอย่าง เช่น การเล่นเฟสบุ๊ก ที่ทุกคนต้อง โพสต์ ข้อความทุกวี่วันอยู่แล้วนั้น

หลายๆ คน หลายๆ เพจ สามารถทำได้ดี มีคนติดตามกดไลก์เยอะแยะ เพราะใช้คำที่มีเสน่ห์นี่แหละ

หลักการเขียนถ้อยคำให้ทรงพลังนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของบรรดา “ก๊อปปี้ไรท์เตอร์” บริษัทโฆษณา หรือนักร่างสุนทรพจน์เท่านั้นนะครับ แต่ทุกๆ คน ล้วนมีศักยภาพที่จะทำได้ เพียงแต่จับหลักคิด ผลิตคำออกมาให้โดนๆ ได้ทุกวัน

การเขียนคำให้ได้พลัง ให้มีเสน่ห์กับคนในวงกว้างนั้น ผมอยากให้นึกถึง “ทฤษฎีหยดน้ำ” ไว้ครับ เมื่อไหร่ ที่ถ้อยคำของเรา ธรรมด๊า ธรรมดา เปรียบเสมือนน้ำนิ่งๆ เรียบๆ แบบนี้คงไม่มีใครสนใจ เหลียวหันมามอง แต่เมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราเติมชีวิตชีวาให้มัน ด้วยการ “หยดน้ำ” ลงไป ก็จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมออกมา ความโดดเด่นก็จะเกิดขึ้นทันที

ทีนี้ใครๆ ก็ต้องเหลียวสายตา มาจับจ้อง!

ยกตัวอย่าง…คุณได้ทราบว่า เพื่อนสนิทคนนึงกำลังจะมีน้อง ท้องได้ 3 เดือนแล้ว อย่างนี้ อดรนทนเก็บความดีใจไว้คนเดียวไม่ได้แล้ว ต้องโพสต์บอกมิตรรักแฟนเพลงเสียหน่อย ก็โพสต์ไปตรงๆ ทื่อๆ ว่า “มีข่าวอยากแจ้งทุกคนว่า อรสา กำลังตั้งครรภ์” 

แล้วต่อมาคุณต้องการนัดเพื่อนๆ ไปเยี่ยม อรสา ที่บ้าน ก็โพสต์อีกครั้งว่า “นัดไปบ้านอรสา เจอกันพรุ่งนี้ที่เซ็นทรัลพลาซ่า เวลา 11.00 น.”

เขียนโพสต์อย่างนี้ ก็เหมือนน้ำนิ่งๆ ละครับ ราบเรียบ เรื่อยๆ ไม่น่าสนใจ ทั้งๆ ที่ การตั้งครรภ์ของอรสา ถือเป็นเรื่องเซอร์ไพร์สของคนวัยหลักสี่ ที่เพื่อนๆ สนใจม๊ากมาก # ผมก็เลยอยากแนะนำ ให้เติมน้ำเข้าไปซักหยดครับ จะได้เกิดแรงกระเพื่อม สั่นสะเทือน ความรู้สึกได้มากยิ่งขึ้น

ปลื้มสุดๆ…อรสา เพื่อนเราสมหวังซะที กำลังจะมีเจ้าตัวน้อยแล้วนะ”

หรือ

โอ้แม่เจ้า…ชั้นมีข่าวดีแจ้งทุกคนว่า อรสา กำลังจะมีน้องแล้วนะ”

วิธีการนี้ เป็นเทคนิคในการขึ้นต้นประโยคด้วย “คำที่สร้างความรู้สึก” เช่น ฟิลลิ่ง ประหลาดใจ หรือรู้สึกแปลกใหม่ ตื้นตัน เป็นห่วงเป็นใย แนะนำให้ใส่เข้าไปในวลีแรกๆ เพื่อ กวักมือเรียก ความสนใจคนอ่าน อยากรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น แต่มีนิดนึงคือ ไม่ต้องใส่สร้อยคำพวกนี้ยาวมาก เพราะอาจรู้สึกเฝือ ขอแค่ “พอดีคำ” ก็จะเป็นการเติมเสน่ห์ให้การสื่อสารระหว่างบุคคลของคุณ…น่าหลงใหลมากขึ้น

หรืออีกทางหนึ่ง เราสามารถหยิบเทคนิคคล้ายๆ กัน มาสร้างสรรค์ประโยคใหม่ได้ ด้วยการใช้ “สัญลักษณ์” หรือ “เครื่องหมาย” ที่ปกติคุณอาจไม่ได้ใช้กันบ่อยนัก แต่ในฐานะนักสื่อสารมวลชน วิธีนี้ล่ะ ได้ผลดีนักแล

ห้ามลืม! เพื่อนๆ ที่จะไปเยี่ยมอรสา นัดเจอกันพรุ่งนี้ที่เซ็นทรัลพลาซ่า 11.00 น.”

หรือ

ด่วน! เพื่อนๆ ที่ไปเยี่ยมอรสา นัดเจอกันพรุ่งนี้ 11.00 น. เซ็นทรัลพลาซ่านะจ๊ะ”

เทคนิคการสร้างคำแบบนี้ บางคนจะสังเกตเห็นว่า บรรดานักหนังสือพิมพ์นิตยสาร นักข่าว นิยมใช้กันมาก ในการพาดหัวข่าว หัวเรื่อง ตอกย้ำเรื่องราว ให้ดูน่าสนใจ เร้าใจ! นี่คือเป็นการสรุปใจความสำคัญหรือประเด็นสั้นๆ เพื่อเรียกแขกให้คนอ่าน ได้สนใจเข้ามาดูเนื้อหาต่อๆ ไป

อีกวิธีหนึ่งในการสร้างประโยคธรรมดาๆ ให้ยกระดับ เพิ่มความเพอร์เฟค ก็คือการใช้เทคนิคสร้าง “ความแตกต่าง” ของคำในประโยคเดียวกัน เพื่อทำให้คนได้ฟัง ได้เห็น ได้อ่าน สะเทือนใจเพราะเกิดความรู้สึกตรงข้ามหรือภาพที่คอนทราสต์กัน

ยกตัวอย่างสำนวนของต่างประเทศ ที่มีมานานแล้ว แต่ยังคงความคลาสิก ผู้คนสมัยนี้ ยังนำมาพูดติดปากกันบ่อยๆ ทีเดียว

Great oaks from little acorns grow.

ต้นโอ๊คใหญ่ ล้วนเติบโตจากต้นเล็กๆ

First impressions are the most lasting.

ความประทับใจครั้งแรก ตรึงตรายาวนานที่สุด

A bad officer is more dangerous than hundred bandits.

เจ้าหน้าที่ชั่วคนเดียว เป็นอันตรายมากกว่าโจร 100 คน

Actions speak louder than words.

การกระทำเป็นเสียงที่ดังกว่าคำพูด

จะเห็นว่ารูปแบบของถ้อยคำที่โดนใจ ได้ผสมผสานระหว่างความหมายที่ แตกต่าง ตั้งแต่เรื่องของขนาด วันเวลา ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไปจนถึงการเปรียบเทียบระหว่าง นามธรรมและรูปธรรม ในชีวิตจริง

เทคนิคการผูกคำที่มีความหมายตรงข้าม สร้างสิ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำการสื่อสารนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญคือช่วย หนุนเสริมประโยคที่คุณใช้อยู่ ทำให้คนฟัง คนดู คนอ่าน คล้อยตาม ไปได้ดีกว่า…ที่สำคัญคือยังความหมาย ที่ก้าวล้ำสูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ลองดูนะครับ!