ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับหญิงชาวมุสลิมกับการเป็นนักพูด ที่ต้องยืนเดี่ยวหลังไมโครโฟน สร้างแรงบันดาลใจระคนอารมณ์ขันให้กับผู้ชม

“Sakdiyah Ma’ruf” สตรีมุสลิมรุ่นใหม่วัย 35 ปี เติบโตในครอบครัวพรรคการเมืองอนุรักษ์นิยม แน่นอนว่านักแสดงตลกย่อมไม่เป็นที่ยอมรับจากที่บ้าน แต่ด้วยความชื่นชอบในละครชิทคอม สร้างไอเดียให้เธออยากเป็นนักพูดเชิงขำขัน และผลักดันให้เธอก้าวข้ามกำแพงข้อจำกัดทางศาสนา

Sakdiyah Ma’ruf ก้าวขึ้นเวทีครั้งแรกที่งานมหาวิทยาลัย Gadjah Mada ในยอกยาการ์ตาเมื่อปี 2009 ในฐานะ เดี่ยวไมโครโฟนหญิงคนแรกของอินโดนีเซีย ข่าวนี้แพร่สะพัดออกไปทั้งสื่อทีวีและสิ่งพิมพ์ แต่ยังโชคดีที่พ่อแม่ของเธออยู่ต่างประเทศ จึงไม่ได้รับรู้ในช่วงนั้น

“ครอบครัวของเราเข้มงวดมากฉันไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปนอกบ้านหลังเลิกเรียนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมกิจกรรมนอกหลักสูตรและไม่อนุญาตให้ใกล้ชิดหรือทำกิจกรรมใดๆ กับเพศตรงข้าม”

ข้อจำกัดทางศาสนาการวางกรอบของครอบครัวแรงกดดันจากสภาพแวดล้อมกลับไม่ลดทอนพลังความเชื่อมั่นเธอพร้อมจะให้แสงไฟเวทีส่องทุกครั้งที่มีโอกาสเนื้อหาส่วนใหญ่ที่เธอแสดง เกี่ยวกับความอยุติธรรมต่อผู้หญิง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม นำมาเสียดสี แต่งเติม สร้างสรรค์ลีลาผสมการบรรยาย จากหัวข้อหนักๆ กลายเป็นความบันเทิงที่โดนจิตโดนใจผู้ชม

เมื่อชื่อเสียงของเธอปรากฎในวงกว้างจึงไม่สามารถปิดบังตัวตนจากครอบครัวได้พ่อแม่เธอรู้สึกผิดหวังเมื่อค้นพบภายหลัง

“สิ่งที่ฉันทำอาจจะทำให้พ่อแม่ผิดหวังบ้างเพราะนอกจากความรู้สึกแบบอนุรักษ์นิยมแล้วยังมีความห่วงใยเกี่ยวกับเนื้อหาที่ละเอียดอ่อนอาจสร้างผลกระทบได้แต่สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นคือพ่อให้ฉันใช้ชื่อเต็มในการแสดงเพื่อให้รู้ว่าเป็นลูกสาวของใครบ่งบอกว่าลึกๆแล้วเขาภาคภูมิใจในสิ่งที่ฉันตัดสินใจ”

ในมุมของศาสนาเธอมักจะถูกตั้งคำถามแกมประนามจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมว่า “ชาวมุสลิมสามารถแสดงตลกได้อย่างไร? เพราะการหัวเราะเท่ากับการสูญเสียสมาธิต่อศรัทธาในพระเจ้า”

เธอตอบกลับด้วยการยกข้อกำหนดในพระคัมภีร์อัลกุรอานว่า คนที่รู้จักตัวเองดีที่สุด รู้จักกับสังคม เท่ากับเป็นการรู้จักผู้สร้างและรู้จักพระเจ้าในที่สุด นี่คือเหตุผลที่ทำให้เธอเชื่อมั่นและยืนอยู่หลังไมโครโฟนได้อย่างมีชีวิตชีวา

ทุกวันนี้ความนิยมของ Sakdiyah Ma’ruf  ไม่อยู่แค่เพียงในอินโดนีเซียเท่านั้น แต่ยังโด่งดังในเวทีต่างประเทศ หลังจากที่เธอได้รับรางวัล Vaclav Havel International ของ Oslo Freedom Forum ซึ่งจัดโดยองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา

—-เรียบเรียงจาก นิตยสาร AEC Connect ฉบับเดือนเม.ย.-มิ.ย. 2560—-