“หมอถามว่าหน้าคุณเป็นปีกผีเสื้อไหม” ก็ตอบมาซิค่ะว่า “ใช่ หรือไม่ใช่” เสียงหมอหน้าละอ่อน ซักอาการคุณป้ารายหนึ่งหลายนาที เมื่อยังไม่ได้คำตอบอย่างใจต้องการ อาการลูบต้นคอไปมาบ้าง เสยผมบ้างบอกอาการหงุดหงิด เพราะวินิจฉัยโรคไม่ได้ เสียงพลิกกระดาษจากตำราแพทย์ดัง “แขวกๆ” เสียงคุยกับหมอหน้าใหม่รุ่นเดียวกันในห้องคนไข้รวมของแผนกผิวหนังตลอดเวลาของการซักประวัติคนไข้รายนี้
“ฉันว่าไม่ได้เป็นหรอก เพราะตามหลักจะต้องเป็นปีกผีเสื้อด้วย จึงจะเป็น SLE” “แต่ผมว่าเป็นนะ เพราะอาการรวมๆแล้วเข้าข่าย”
“เอางี้ ป้าเอายาแก้แพ้ไปกินก่อนแล้วกัน เดือนหน้ามาเจออีกที ดูว่าเป็นยังไง” หมอหน้าเด็กพูดจบ พลิกนาฬิกาบนข้อมือ บอกเวลาเที่ยงพอดี “ไปกินข้าวกัน” เธอ ชวนหมออีกคน
โอ่งเดินออกมาจากห้องตรวจตามหลังป้ารายนี้ไม่นาน ก็ต้องแปลกใจ เพราะด้านหน้าเต็มไปด้วยคนไข้แน่น นั่งบ้าง ยืนบ้างรอพบหมออีกนับสิบ อาการหนักเบาแตกต่างไป บ้างเป็นแค่ผื่นเต็มหน้าจนไม่มีที่ให้ขึ้น บ้างก็มีผื่นเต็มแดงพร้อมน้ำเหลืองนอนรอเป็นคิวต่อไปบนเตียงเข็น
โอ่ง นั่งกระสับกระสาย ยังติดอกติดใจกับคำพูด และคำถามของหมอเด็กคนนั้น ก็ได้รู้ว่า “ตามหลักวิชาแล้ว ปีกผีเสื้อ หรือผื่นเล็กๆบนใบหน้าที่เป็นสองข้างแก้ม เป็นอาการที่เด่นชัดของโรค SLE แต่ตอนนั้นโอ่งไม่ได้ยินหมออธิบายใดๆ กับคนไข้ว่า ไอ้ปีกผีเสื้อมันเป็นอย่างไร มันสัมพันธ์กับโรคอะไร และยังไง แต่กลับได้ยินเสียงเม๊งใส่คนไข้ ซึ่งมาหาหมอด้วยอาการเป็นผื่นขึ้นที่หลังและขา ไม่รู้อะไรมากกว่านั้น แต่หมอเด็กกับไม่ใยดีกับอาการกลัวของคนไข้ เมื่อได้ยินหมอปรึกษากันต่อหน้าว่ามีโอกาสเป็น SLE หรือโรคพุ่มพวงที่คนไทยจดจำได้จากอาการของนักร้องดังที่เป็นโรคนี้ และไม่นานก็เสียชีวิต
รุ่งขึ้น โอ่งมาทำงานปกติ หลังลางานไปทำหน้าที่ลูกที่โรงพยาบาลในกรุงเทพ เขาอดไม่ได้ที่จะเล่าให้คนใน รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ที่เค้าทำงานอยู่
“ผมน่ะรำค้าญ รำคาญ หมอถามคนไข้ซ้ำไปซ้ำมา ว่าเป็นปีกผีเสื้อที่หน้าไหม ผมอยู่ตรงนี้ ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร มันสำคัญกับอาการของโรคยังไง ต้องเปิดอากู๋ดู ถึงรู้ แล้วป้าแกจะมาเปิดหาอย่างเราไหม แกจะตรัสรู้ไหมว่าอาการของแกเข้าข่าย SLE แกมาหาหมอ เพราะผื่นขึ้นที่อื่น แต่มาถามแกเรื่องปีกผีเสื้อ ห่า อะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้อธิบง อธิบายอะไรเล้ย แล้วหงุดหงิดมาลงที่คนไข้อีก หาว่าตอบไม่ตรงคำถาม”
“สอนกันมาไง หรือนิสัยเป็นอย่างงั้นเอง แต่หลังๆได้ยินว่าเขาก็สอนกันใหม่แล้วนิ ให้เอาคนไข้เป็นศูนย์กลางแทนเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่” พี่กานต์ พยาบาลวิชาชีพคนเดียวของ รพ.สต.แต่ทำหน้าที่เยี่ยงหมอ ก็เห็นไม่แตกต่างจากเขา
“เออ โอ่ง อย่าลืมพรุ่งนี้ถึงคิวเยี่ยมบ้านตาหลองน่ะ”
“ได้พี่ คราวนี้ไปกันกี่คน”
“ น่าจะ 2 อีก 3 ก็อยู่ประจำการไป”
สิบโมงของเช้าวันถัดมาโอ่ง และ นิ่ม ก็อยู่หน้าบ้านตาหลองแล้ว “ตาหลองครับ ทีมจากรพ.สต.มาเยี่ยมครับ” โอ่งตะโกนไปที่หน้าห้องแถวเล็กๆในย่านชุมชนหนาแน่น ห่างจากโรงพยาบาลไม่ไกลนัก “ครับ” เสียงแหบพร่าตอบกลับมา อีกพักใหญ่กว่าตาหลองผู้เฒ่าวัย 80 ปี จะเดินกระย่องกระแย่งมาเปิดประตู
“หมอโอ่งมา” เสียงผู้เฒ่าเรียกโอ่งอย่างคนไว้ใจเหมือนลูกหลาน แม้โอ่งจะเป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุข แต่เขาถูกเรียกหมอเสมอเวลาออกไปเยี่ยมคนไข้
“วันนี้เป็นไงบ้างตา” หมอผู้มาเยือนถาม
“ผมเหนื่อยมากเลยหมอ ผมขอไปนอนที่โรงพยาบาลได้ไหม”
“เดี๋ยวผมขอดูเบื้องต้นก่อนน่ะ ว่าตาเป็นอะไร” โอ่ง รู้ดีว่าตาหลองไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง นอกจากโรคประจำตัวของคนแก่ทั่วไป แต่ดูเหมือนอาการทางใจจะร้ายแรงกว่า หลังตาหลองต้องอยู่คนเดียวเมื่อยายหลวย ผู้เป็นเมียเสียไปเมื่อหลายเดือนก่อน
“ผมได้ข่าวว่า ไอ้พล มันจะรับตาไปอยู่กับมันน่ะ ไม่นานนี่ล่ะ” เป็นสารที่โอ่ง บอกกับตาหลองก่อนจะร่ำลากันกลับ
“พี่ต้องลงทุนติดต่อลูกตาหลองเลยหรือ” นิ่มปล่อยความสงสัย หลังเก็บงำมาตลอดเวลาที่เยี่ยมบ้านตาหลอง
“นิ่ม พี่จะบอกอะไรให้น่ะ โรคทางใจสำคัญกว่าโรคทางกาย เราต้องหาหัวใจของเขาให้เจอ” โอ่งอธิบายให้รุ่นน้องฟัง ระหว่างเดินกลับ
“พี่รู้จักตาหลอง เพราะไอ้พล เป็นเพื่อนพี่เอง พี่อธิบายโรคทางใจให้มันฟัง ว่าแท้จริงแล้วอาการป่วยของพ่อมัน มาจากความ “เหงา” ที่ต้องอยู่คนเดียว แม้แกจะปากแข็งบอกลูกว่า แกอยู่ได้ก็ตามที เพราะมีเพื่อนบ้านเป็นเพื่อนเยอะแยะ แต่พี่ว่ายังไงก็สู้อยู่กับลูกหลานไม่ได้ ดีที่เพื่อนพี่ก็คิดๆไว้ก่อนแล้ว ก็เลยเป็นข่าวดี”
“นิ่มก็ว่างั้นพี่ ลูกกะตาแก ดูมีประกายสุขออกมาให้เห็นเลยนะ ตอนพี่บอกข่าวดีแกไป”
“ไม่ใช่แค่แกน่ะ พี่ก็เบาใจ มีความสุขไปกับพ่อลูกคู่นี้ด้วย”
ความสุขเป็นของโอ่งเสมอมา เมื่อเขาแก้ปัญหาให้กับคนในชุมชนได้ แม้ปัญหานานาจะหลั่งไหลมาเมื่อเขาเป็นหนึ่งในทีมหมอครอบครัว (Family Care Team) ที่ต้องออกเยี่ยมบ้านคนไข้ในละแวก รพ.สต.ที่เขาทำงานอยู่ แต่เขารู้สึกกระปรี่กระเปร่าทุกครั้งที่ได้ออกไปเยี่ยมบ้านคนไข้เก่าบ้าง คนแก่นอนติดเตียงในชุมชนบ้าง หรือคนพิการ เพราะทำให้เขาได้พบเห็นอะไรๆ ที่ทำให้มีแรงบันดาลใจอยากทำงานที่นี่ต่อไปจนกว่าจะหมดแรง
เพราะพื้นที่รอบๆ รพ.สต.แม้จะไม่ได้กันดารนัก แต่ก็มีคนไร้โอกาสจำนวนมากที่แฝงอยู่ท่ามกลางชุมชน บางคนไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้ตามนัด บางครอบครัวไม่มีเงินค่ารถ บางครอบครัวคนแก่อยู่คนเดียว บ้างคนแก่กับเด็กเล็กๆอยู่ลำพัง ดูแลกันเอง ไร้คนหนุ่มสาว บางบ้านมีแต่เด็กๆอยู่ในบ้าน เพราะพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน และบ้างครอบครัวต้องทิ้งคนป่วยที่เป็นจิตเวช หรือพิการไว้ลำพัง
ทีมหมอครอบครัวของโอ่ง เกิดขึ้นได้ เพราะหมอจิน หมอหนุ่มจากโรงพยาบาลชุมชน แม้เพิ่งมาใหม่แต่ก็ได้รับความชื่นชมในความเอาใจใส่คนไข้ หลังจากเขามาออกหน่วยที่ รพ.สต.ระยะหนึ่ง ก็เริ่มสังเกตว่าทำไมผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งถึงขาดนัดเป็นประจำ เมื่อรู้สาเหตุ ก็เลยปรึกษาคนใน รพ.สต. และในโรงพยาบาลชุมชน
ไม่นานทีมหมอครอบครัวก็เกิดขึ้น เพราะความศรัทธาในตัวหมอจิน ที่มีอยู่เป็นทุนเดิม เริ่มแรกหมอจินขันอาสาจากคนใน รพ.สต. และคนใน รพ.ชุมชนที่เขาอยู่ ต่อมาก็หาทีมเพิ่มจาก อสม. และคนในชุมชน ที่อาสามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม หลังจากหมอจินไปพบปะพูดคุยที่บ้านแทบทุกวัน จากนั้นเมื่อได้กำลังพอเหมาะแล้วก็มีการจัดระบบ จัดเวร จัดคิว ออกไปเยี่ยมบ้านคนไข้ที่อยู่ในลิสต์ต้องเข้าไปดูแล และโอ่งก็เป็นอีกคนในทีมที่อาสา
“พวกเราต้องฟังอย่างตั้งใจ พูดอย่างเอาใจใส่ ให้กำลังใจคนป่วย และคนในครอบครัวของคนป่วย เขาเป็นคนในชุมชนก็เหมือนเป็นพี่น้องเรา และที่ลืมไม่ได้คือข้อมูลนะ ทั้งของคนไข้ และคนในครอบครัว รวมถึงบรรยากาศละแวกบ้านเขา ที่เราต้องได้มาก่อน เอามาแลกเปลี่ยนกันก่อนลงพื้นที่ อย่าลืมบันทึกข้อมูลสำคัญเมื่อไปพบเจออะไรมา จะได้นำมาเป็นประโยชน์ในการรักษาและเยียวยาต่อทั้งคนป่วยรายนี้และรายอื่น บางที่อนาคตอาจจะเป็นพ่อแม่พี่น้องเราที่ป่วยโรคนี้” เป็นประเด็นสำคัญที่หมอจินย้ำทุกครั้งที่มีการประชุมทีม เพราะบางครั้งไม่มีหมอจินไปด้วย มีเพียงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกเยี่ยมบ้านลำพัง
โอ่งรู้ดีว่าทีมนี้ สำคัญเพียงใด ช่วยต่อชีวิตของคนหลายครอบครัวและต่อสังคมอย่างไร จากที่ท้อแท้ สิ้นหวัง กลายเป็นมีความหวัง มีกำลังใจที่จะสู้โรค สู้ชีวิตต่อไป ด้วยสายตาที่เป็นมิตร คำพูดปลอบประโลมที่จริงใจ มือที่สัมผัสของหมอ และคนในทีมที่ผลัดเปลียนหมุนเวียนกันมาหาพวกเขา
หลายชุมชน เห็นทีมหมอครอบครัวมาเป็นประจำ ถึงรู้ว่าบ้านใกล้เรือนเคียงอยู่ลำบาก ก็ช่วยกันผลัดกันมาเยี่ยม มาพูดมาคุย เอาข้าวของอาหารการกินมาแบ่งปัน และยังได้รับการช่วยเหลือจากท้องถิ่น ทั้งซ่อมบ้าน เอาข้าวของเครื่องใช้มาให้ หาทุนให้เด็กเรียนต่อ และหางานทำให้
หลายปีผ่านมาที่ รพ.สต.ของโอ่งทำมาสม่ำเสมอ ไม่นานหมอจิน ก็นำข่าวดีมาบอกกับทีมหมอครอบครัวว่า ทีมหมอครอบครัวกำลังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล อย่างเป็นทางการ โอ่งและเพื่อนๆร้องเฮลั่นโรงพยาบาล
เพราะนั่นหมายถึงจะมีโครงสร้างและระบบที่ชัดเจนมารองรับการทำงานของทีมหมอครอบครัวจากเดิมที่ทำงานแบบขันอาสา ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนอื่นๆตามมา อย่างการเสริมทีมจากโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลอำเภอ อาจมีนักสาธารณสุข นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ รวมถึงภาคเอกชนที่ต้องการนำกำไรมาแบ่งปันชุมชน และยังจะมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่จะมาช่วยดูแลคนไข้เพิ่มเติม
ทีมแบบนี้ก็จะขยายไปในพื้นที่อื่นๆด้วย เราจะมีโอกาสนำประสบการณ์การดูแลคนไข้ที่บ่มเพาะมาหลายปีให้ทีมหมอครอบครัวพื้นที่อื่นๆเอาไปดูแลคนในชุมชนของเขา โอ่งคิดในใจเผลอยิ้มออกมาไม่รู้ตัว
“โอ่ง ฝันดีไร” พี่กานต์ ที่ร่วมทีมออกไปเยี่ยมคนไข้กับเขาหลายต่อหลายบ้าน เดินผ่านอดทักไม่ได้
“ผมฝันเห็นมีทีมหมอครอบครัวเต็มบ้านเต็มเมือง แล้วก็โยงใยกันเป็นเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลกัน”
“เออ พี่จะถามหลายทีล่ะ ไม่รู้เหมือนกันไหม นายคิดยังไง ที่โรงพยาบาลเรา แถบไม่มีเครื่องไม้เครื่องไม้เครื่องมืออะไร แต่มาทำทีมหมอครอบครัว ออกเยี่ยมชาวบ้าน ที่หลายพื้นที่ใหญ่ไม่ได้ทำ และยังเกาะกัน สู้ทำอยู่มาหลายปี”
“ก็ใจไงพี่ เราไม่มีทรัพย์สมบัติอะไร ก็รู้ๆอยู่ อาชีพก็คือทำงานดูแลคนป่วยคนไข้ ผมถือว่าฟ้ากำหนดให้เรามาทำหน้าที่นี้ แล้วถ้ามีโอกาสที่จะทำหน้าที่ได้ดีขึ้นก็ควรต้องทำ”
โอ่งเล่าความในใจว่า “ผมเคยฟังญาติหลายคนตำหนิต่อหน้าเลยนะว่า ว่าดูแลคนในครอบครัวของแกให้ดีก่อน เที่ยวได้ไปยุ่งครอบครัวคนอื่น ผมไม่นอย ไม่โกรธนะ ไม่รู้จะต่อปากต่อคำไปหาพระแสงอะไร แต่กลับคิดว่า ใครจะมารู้ตัวดีเท่ากับเราเอง ว่าทำอะไรอยู่ เราดูแลครอบครัวเราอยู่แล้ว แต่นี่เป็นงานของเรา ก็ต้องทำให้ดีที่สุด ไม่ใช่ทำส่งๆไปวันๆ เช้ามาเย็นกลับ”
“และงานแบบนี้ เราทำไม่ได้ช่วยคนไข้แค่รายเดียวนะ แต่ช่วยคนทั้งครอบครัวเขา ก็เท่ากับช่วยทั้งชุมชน บางทีแค่กำลังใจที่เรามีให้ เขาเห็นเราใส่ใจโรคภัยและชีวิตความเป็นอยู่ของเขา เขาก็ฮึดสู้โรค ก็ไม่ไปผลักดันให้เขาทำอะไรผิดๆ เขาผาสุก เราก็ผาสุก ลูกหลานเราก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีไปด้วย”
“เออ พี่ก็คิดงั้นเหมือนกันล่ะ ไม่ใช่ว่าจะทำแต่บ้านตัวเองแล้วเราจะรอดเสียเมื่อไหร่ ถ้าข้างบ้านเราอันตราย เราก็อันตรายไปด้วย”
โอ่ง อดย้อนไปถึงวันที่ หมอจินมาขันอาสาตั้งทีมหมอครอบครัวขึ้น ตอนนั้นมีแต่ “ใจ” เท่านั้น เพราะทุกคนคิดตรงกันว่า จะนั่งรอคนไข้คนป่วยมาโรงพยาบาลให้เรารักษาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำงานเชิงรุกด้วย ต้องไปหาคนป่วย ต้องหาทางเยียวยาด้วยวิธีการต่างๆ แม้ทางนั้นจะอยู่นอกตำราก็ตาม และไปหาคนที่ยังไม่ป่วย เพื่อให้เค้าดูแลสุขภาพของตนเอง
ความเหนื่อยยากของทีมทุกคน แต่ส่งผลให้หลายชีวิตหลายครอบครัวมีความสุขมากขึ้นนับว่าคุ้มทีเดียวในสายตาของโอ่ง แม้คนไข้บางคนไม่ได้หายจากโรค แต่ลุกขึ้นมาปรับตัว ปรับพฤติกรรม และปรับใจที่จะยอมรับ ทำให้ชีวิตมีความสุขมากกว่าที่จะจมกับความทุกข์
….เป็นเพราะกำลังใจของหมอจินและทีมหมอครอบครัวที่ส่งผ่านจากใจไปถึงหัวใจของคนทุกคนในชุมชน