จริงๆแล้วบางกะเจ้า ไม่ใช่ปอดของกรุงเทพหร้อก มันเป็นสัญลักษณ์มากกว่า สัญลักษณ์ของความล่มสลายของชุมชน ของภาคเกษตร และสัญลักษณ์ว่าอำนาจเงินมีอิทธิพลแค่ไหน

หิ่งห้อย

“ทำไมเป็นงี้พี่” เป็นคำถามที่ถามซ้ำไปซ้ำมาตลอดการสนทนากับพี่ป้าน้าอา ชาวชุมชนบางกะเจ้า ไม่มีคำตอบกลับมานอกจาก เสียงหัวเราะแบบปลงๆ

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดที่บางกะเจ้าในตลอด 40 ปีที่เห็นด้วยตา รวดเร็วปานสายฟ้าแลบ คงเป็นเพราะมีปัจจัยเอื้ออำนวยให้แปรเปลี่ยน ทั้งท้องถิ่นที่คุมกฎ หน่วยงานรัฐที่กุมพื้นที่ใหญ่ ชาวบ้าน และคนต่างถิ่น มีผลทั้งสิ้น

บางกะเจ้า จากที่เคยเต็มไปด้วยสวนท้องร่อง สวนพริกมะนาว มะพร้าวน้ำหอมที่งอกงาม ผู้คนก้มๆเงยๆในสวน ขุดลอกท้องร่องบ้าง ถางหญ้าบ้าง เดินเก็บผลผลิตบ้าง พายเรือแจวส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าวทักกันลั่นสวน ชาวสวนยิ้มกว้างอย่างมีความสุขกับชีวิตประจำวันที่เรียบง่าย  บ้างทำสวน  บ้างเดินเก็บพริกมะนาว มะเขือ เสียงตำน้ำพริก ทอดปลาทู อาหารมื้อใหญ่ยามเย็น

ภาพวันนี้เหลือแต่สวนจำลอง กับต้นไม้แขวนป้ายราวพิพิธภัณฑ์ร้าง รอให้มัคคุเทศก์มาชี้ว่า ที่จุดนั้นจุดนี้เคยเป็นสวนที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน ป้ายสลักเสลาตัวอักษรสวยงามปักเป็นจุดๆ ใจความว่า “ร่องรอยอดีต”  น่าจะป้ายประจานมากกว่าจะเป็นป้ายเชิดชูเกียรติ

พี่ตึ๋ง เกิดและเติบโตที่บางกะเจ้า พื้นที่ที่ถูกยกย่องเป็นปอดของคนกรุงเทพ ในฐานะคนบางกะเจ้า และคนทำงานที่คลุกคลีกับพัฒนาการที่สับสน และซับซ้อนของบ้านเกิดมาตลอดตั้งแต่ช่วงก่อร้าง แกเปรยว่า “จริงๆแล้วบางกะเจ้า ไม่ใช่ปอดของกรุงเทพหร้อก มันเป็นสัญลักษณ์มากกว่า สัญลักษณ์ของความล่มสลายของชุมชน ของภาคเกษตร และสัญลักษณ์ว่าอำนาจเงินมีอิทธิพลแค่ไหน”

“เห็นจะเป็นอย่างงั้นพี่” ผู้มาเยือนยามบางกะเจ้าเปลี่ยนแปลง พูดได้เพียงนั้น เพราะไม่อาจปฏิเสธภาพที่ปรากฎตรงหน้าในช่วงเวลานี้ของบางกะเจ้าได้เลย ความสงบเงียบ เสียงนก เสียงพายเรือแจวดังจ๊อมๆ กลายเป็นเสียงเครื่องยนต์จากรถรา เสียงกริ่งจักรยานนับร้อยของนักท่องเที่ยวที่ไม่ต้องการตกกระแส เสียงของผู้มีอิทธิพลที่คอยกวาดต้อนคนให้ใช้บริการเช่าจักรยานร้านของตน

ชาวสวนเหลือเพียงเงาที่หายไปกับอดีต เรือแจวก็หายไปด้วยอย่างไร้ร่องรอย “เขามาดูอะไรกัน” ผู้มาเยือนถามในใจ

ย้อนกลับไปในอดีตทั้งเรื่องเล่าได้ยินมาตลอดกว่า 40 ปีกับข้อมูลเชิงประจักษ์ที่ปรากฎในเอกสารต่างๆไม่แตกต่างกัน ถึงต้นทางของการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว มาจากข้าราชการและกลุ่มบุคคลหนึ่งที่เห็นความจริง และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ สะกิดบอกความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่แห่งนี้ ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ของประเทศ สวนเกษตรที่อุดมสมบูรณ์กำลังถูกกว้านซื้อโดยนายทุนแปลงแล้วแปลงเล่า การเปลี่ยนมืออย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า จุดจบของพื้นที่ยุทธศาสตร์ของเมืองหลวงคงจะมาถึงในไม่ช้า

มาสู่การสะกิดหน่วยงานอื่นๆตามมา และกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียว โอนให้สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมดูแล จากนั้นมีกระบวนการขอเวนคืนพื้นที่จากชาวบ้าน เพื่อจัดโซน หวังจะรักษาที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์สืบไป เมื่อข้อมูลข่าวสารที่มาที่ไปของโครงการไม่ได้ถูกเผยแพร่อย่างทั่วถึง ชาวบ้านประท้วงหนัก เพราะมีข่าวทางการจะให้โยกย้ายไปอยู่บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา

“พอมีข่าวเวนคืน คนแก่ก็เครียด บางคนก็ตรอมใจตาย แบกโลงศพ พากันไปประท้วงหน้าศาลากลางพระปะแดงเป็นร้อยเป็นพันเห็นจะได้ ตอนนั้นสถานการณ์ก็แรงอยู่ เพราะชาวบ้านไม่เข้าใจว่าทำไมราชการถึงต้องเวนคืนมาทำสวนอนุรักษ์ ทั้งที่เราก็ทำสวนตามธรรมชาติของเราอยู่แล้ว ดูเหมือนเขาจะไม่เชื่อว่าเราจะรักษาบ้านของเราไว้ได้” พี่ป้าน้าอาหลายคนเล่าให้เราฟังบรรยากาศในช่วงนั้นซ้ำไปซ้ำมาราวเพิ่งเกิดเมื่อวันวาน

เมื่อชาวบ้านประท้วง หน่วยงานที่รับผิดชอบในเวลานั้น จึงเปลี่ยนจากการเวนคืน เป็นขอซื้อที่ดินตามความสมัครใจโดยให้ราคาตลาด หลายเจ้าก็ขายไป เพราะรู้ว่าพื้นที่นี้จะต้องประกาศเป็นพื้นที่สีเขียวจะทำอะไรไม่ได้มากนัก พอเหมาะพอดีกับเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ นายทุนเจ๊ง ก็เลยจำต้องขาย พื้นที่สำหรับการอนุรักษ์จึงได้เป็นแปลงใหญ่

นับจากนั้นจนถึงวันนี้ 40 ปีแล้ว ความตั้งใจของคนกลุ่มหนึ่งที่จะรักษาพื้นที่สีเขียวทำได้หรือไม่ เป็นคำถามชวนคิด มองไปรอบสภาพของบางกะเจ้าในเวลานี้ก็คงเป็นคำตอบได้ดี ว่างานอนุรักษ์พื้นที่คงทำได้เฉพาะบริเวณ ราว ๒๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อว่า “ศรีนครเขื่อนขันธ์” และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังสวนแห่งนี้หลายครั้ง

ขณะที่ทั้งหมดของคุ้งบางกะเจ้าที่กินบริเวณ 6 ตำบล รวมพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ล่ะ  กำลังกลายเป็นสิ่งปลูกสร้าง เพื่อซื้อขายอากาศบริสุทธิ์ อย่างที่นายทุนถนัด

คงเป็นเพราะกระแสบางกะเจ้าปอดของคนกรุงเทพ บวกตลาดน้ำชุมชนบางน้ำผึ้ง บรรยากาศแบบสวนๆ ที่ไม่มีให้เห็นในกรุงเทพแล้วยกเว้นที่นี่ ดึงดูดให้ผู้คนต่างถิ่นหลงใหลเสน่ห์ พากันมาขอแบ่งอากาศบริสุทธิ์ จนจราจรคับคั้ง ทั้งจักรยาน รถยนต์ ร้านกาแฟ ร้านอาหาร รีสอร์ทและโรงแรม บ้านจัดสรร

รวมถึงงานอีเว้นท์จากหลายต่อหลายบริษัทที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาทำกิจกรรม เพื่อความเท่ห์ให้ได้ชื่อว่ามาช่วยรักษาปอดของกรุงเทพ

“ถ่ายรูปเซลฟี โพสต์ลงเฟซแล้วก็กลับ มาปลูกต้นไม้ ได้ถ่ายรูปก็กลับ ก็ไอ้หลุมเดิมๆนั่นล่ะ มากี่บริษัทก็หลุมเดิมๆ ไม่ได้ตั้งใจจะมาปลูกให้มันขึ้นหรอก วันนี้ที่นี่ก็เลยเป็นแค่พื้นที่สร้างภาพสวยๆเท่ห์ๆ” ชาวบางกะเจ้า สะท้อนให้เราฟัง

หิ่งห้อย

“ไม่ต้องถามหาต้นไม้เก่าๆที่เป็นพันธุ์พื้นถิ่นของที่นี่น่ะ มันตายไปเกือบหมดแล้ว สวนมะพร้าวน้ำหอมก็อย่างที่เห็นมีแต่ป้ายบอกว่าเป็นร่องรอยอดีต หน่วยงานก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร ปลูกอะไรได้ก็ปลูก ดีที่งบประมาณสร้างโน่นนี่ไม่พอน่ะ สภาพเก่าๆของสวนก็เลยมีให้เห็นเป็นหย่อมๆ” ชาวบางกะเจ้าที่เกิดและเติบโตที่นี่บ่นให้ฟัง

ด้านรอบๆด้านนอกของสวน “ศรีนครเขื่อนขันธ์” ไม่ต้องพูดถึงมีแต่คนนอกถิ่นมีกะตังมาทำโครงการใหญ่น้อย ประกอบกับกฎของพื้นที่สีเขียวมีการแก้ไขเป็นระยะๆ คอยเปิดทางนายทุน ทำโครงการต่างๆได้ บ้านจัดสรรหรูของทุนใหญ่ ก็เลยกำลังผุดขึ้นขนาบโค้งน้ำได้ และอะไรต่อมิอะไรที่จะตามมาในไม่ช้า

น่าแปลกที่เงินซื้ออากาศบริสุทธิ์ได้ แต่สำหรับการอนุรักษ์ขอผลักให้คนจนหยิบมือ การจากไปของ หิ่งห้อย อีกไฮไลท์ของบางกะเจ้า และดัชนีชี้วัดความสะอาดของเมืองกรุงเป็นคำตอบได้ดีว่า ไม่มีอะไรจะต้านทานอำนาจเงินได้

“เคยมี 11 จุดน่ะ ที่ลุงพาคนมาดู หิ่งห้อย ที่บางกะเจ้า ตอนนี้เหลือแค่ 1 ต้นลำพูหลายร้อยต้นที่เคยเป็นที่อยู่ของหิ่งห้อยกลุ่มใหญ่ ถูกรถแบคโฮโค่นไปหมดแล้ว เขากำลังปรับที่ทำบ้านจัดสรรหรูหรา ไม่นานบางกะเจ้าคงไม่มีหิ่งห้อย ลุงก็คงไม่ได้แล่นเรือล่ะ” ลุงแกละ คนขับเรือชมหิ่งห้อยลำเดียวในบางกะเจ้า เล่าพรางชี้ให้เราดูบ้านเก่าของ หิ่งห้อย นับพันที่เคยส่องแสงระยิบระยับราวอัญมณีประดับโค้งเจ้าพระยาเนิ่นนาน

จุดจบของ หิ่งห้อย บางกะเจ้าไม่ได้อยู่ที่อากาศเปลี่ยนแปลง แต่อยู่ในกำมือของ “คน” ลุงแกละ บอกว่า นักท่องเที่ยวต่างถิ่นทำเหตุ บางคน ทั้งฝรั่ง แขก นักท่องเที่ยวคนไทยก็ตัวดี มาดู บอกไม่ให้ฉายไฟ ไม่ให้ถ่ายรูป เพราะหิ่งห้อยไม่ชอบแสง ก็ไม่เชื่อ แอบถ่ายตอนลุงเผลอ มันก็เลยหลายไป เป็นปีกว่าจะกลับมาอยู่ที่เดิม ล่าสุดบอกรีสอร์ทไปแล้วว่าไม่รับพาไปดูหิ่งห้อยล่ะ ส่วนคนรวยก็ไม่ต้องพูดถึง เขาทำอะไรได้ ก็ทำหมด มาซื้อที่ทำบ้านใหญ่โตเป็นกลุ่มใหญ่ น้ำก็เน่า จะมาจากไหนล่ะ ก็ไอ้บรรดาโรงงานที่ปล่อยมาตามคลองบ้าง ลงแม่น้ำตรงๆบ้าง โดยเฉพาะจากคลองพระโขนง บางวันน้ำเป็นฟองฟอดให้เห็นจะๆ เรื่องเนี่ยะลุงบอกคนรับผิดชอบตลอด เวลามีประชุมที่อบต.ก็ขึ้นไปพูดบ่อยๆแต่ไม่มีอะไรดีขึ้น แถมเค้าเบื่อลุงพูดซ้ำซาก

เสียงถอนหายใจของผู้มาเยือนดังแข่งกับลุงแกละ เป็นระยะๆ ตลอดทางที่เรือแล่นกลางลำน้ำ ….

คนที่คุมกฎของพื้นที่นี่ อิทธิพลที่คนสร้าง ผลประโยชน์ตนที่มาก่อนสาธารณะ ทำให้บางกะเจ้าอยู่ในภาวะสับสน ลุ่มๆดอนๆ คู่ขนานกระแสบางกะเจ้าฟีเว่อร์

….เราทำอะไรได้บ้าง นอกจากนัดกันไปถ่ายรูป ปั่นจักรยานที่บางกะเจ้า แล้วก็นั่งรอวันให้ที่นี่ถึงจุดจบ เพื่อ หิ่งห้อย ตัวสุดท้ายจะบอกลา….

หิ่งห้อย