โรคซึมเศร้า ภาวะอาการทางจิตเวช ที่น่าวิตกและมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมากที่สุดในสังคมปัจจุบัน กำลังเป็น ทอล์คออฟ เดอะทาวน์ ถึงด้านมืดมิดของชีวิตมนุษย์

หลายๆ ครั้ง มีการปลิดชีวิตตัวเองด้วยวิธีพิสดาร เช่นถ่ายทอดสดผ่าน Facebook Live หรือใช้อุปกรณ์เข้าช่วย

แล้วก็ไม่ใช่แค่คนเดินดินธรรมดา แต่ดาราชื่อดังๆ ก็ยังกระทำ ‘อัตวินิบาตกรรม’ เพื่อหลีกหนีจากโลกเฮงซวยใบนี้

รัชนี แมนเมธี กรรมการสมาคมสายใยครอบครัว ในอดีตก็เคยเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกว่าขาดความรักจากคนรอบข้าง จนต้องเข้ารับการรักษาทางจิตเวช

กระทั่งปัจจุบัน รัชนี หายดีแล้ว และได้เข้าร่วมเป็น ‘อาสาสมัคร’ บำบัดดูแลผู้ป่วยทางจิต ร่วมกับโรงพยาบาลศรีธัญญา นับเป็นเวลาถึง 15 ปีเต็ม

รัชนี ถ่ายทอดประสบการณ์ให้ฟังว่า การฆ่าตัวตายที่ปรากฎเป็นข่าวบ่อยครั้ง จริงๆ สามารถป้องกันได้ โดยร่วมกันสังเกตอาการตั้งแต่เริ่มแรก เช่น ในเด็กบางคนมีปัญหาทางจิตใจ หรือมีภาวะ โรคซึมเศร้า ส่วนใหญ่จะมี ยีน (Gene) ติดตัวมาอยู่แล้ว

“เมื่อพวกเค้าถูกกระตุ้นหรือเกิดความเครียด โรคก็จะปรากฎขึ้นทันที กลายเป็นความรุนแรงหรือการฆ่าตัวตาย”

ป้าหนู – รัชนี แมนเมธี

ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์ผู้ป่วยในประเทศเพิ่มขึ้น ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดูแลแก้ไขอย่างจริงจัง ในอนาคตปัญหาจิตเวช จะกลายเป็น ภาระโรค ที่เป็นต้นทุนทางสังคมสูงมาก

“สังคมไทยเดิมนั้น มีแค่ปัญหาผู้ป่วยทางกาย แต่ขณะนี้แนวโน้มของผู้ป่วยทางจิต เป็น ภัยเงียบ ที่ใกล้ตัวเพิ่มขึ้นทุกขณะ ไม่เพียงแต่การทำร้ายตัวเอง ยังทำร้ายผู้อื่นด้วย ดังนั้น การสร้างความเข้าใจต่อผู้ป่วยทางจิตเวช เป็นสิ่งสำคัญที่สังคมควรศึกษา”

เบื้องต้น กลุ่มจิตอาสาที่เข้าไปบำบัด จะต้องได้รับการฝึกหัดมาอย่างดี มีความรู้เรื่องวิธี ‘การสื่อสาร’ ทำความเข้าใจกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ซึ่ง รัชนี แนะนำว่า ต้องมีเทคนิคในการพูดคุย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ใช้วิธีสนทนาเหมือนคนปกติ เพราะสมองของพวกเค้าถูกรบกวนจากโรค ไม่ว่าจะเป็นการคิด การมีเหตุมีผล มีช่วงอารมณ์รุนแรง และอารมณ์ถดถอย

“บางทีเราไม่ได้ตั้งใจพูดอะไรให้สะเทือนใจ แต่ความมีเหตุผลเค้าน้อยกว่าคนปกติ หรือการจะชวนให้เค้ามาโรงพยาบาล ก็จะโกรธทันที เพราะการมาโรงพยาบาล แลดูน่ากลัวสำหรับเค้ามาก ดังนั้น ก่อนอื่นเลย ต้องได้ใจกันก่อน เหมือนเราเป็นเพื่อน ใช้ภาษาพูด ภาษาท่าทาง ประกอบไป”

สำหรับปัญหาที่สังคมโซเชียลมีเดียเผชิญขณะนี้ รัชนี มองว่า เราต้องช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับผู้ป่วยทางจิตเวช ไม่ใช่การยั่วยุ ส่งเสริม เพราะยิ่งเค้าเห็น รายละเอียดของการฆ่าตัวตาย ในสื่อมากเท่าไหร่ ยิ่งสร้างแรงจูงใจเพิ่มเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุฆ่าตัวตาย ในบางประเทศเค้าจะไม่ให้สื่อระบุรายละเอียดมากเกิน จนผิด จรรยาบรรณ นำเสนอแค่สาเหตุก็พอแล้ว ส่วนเรื่องที่ควรเสนอ คือผลกระทบว่ามีอะไรบ้าง เช่น ลูกๆ ที่ยังเล็กอยู่จะไม่มีใครเลี้ยงดู หรือภาระไปตกอยู่กับคนอื่น อย่างนี้จะสร้างสรรค์มากกว่า

“สื่อบางคนเมามัน บอกว่าเอาปืนจากไหน คือเหมือนเป็นการสอนเลย ซึ่งคนปกติได้ดู คงไม่มีผลอะไร แต่บางคนมีแนวโน้มอยากฆ่าตัวตายอยู่แล้ว เห็นก็เอาด้วยเลย เรากลัวกลุ่มนี้มาก โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า น่ากลัวที่สุด เพราะเป็นลักษณะของโรค รู้สึกตัวเองไม่มีค่า ไม่น่ามีชีวิตอยู่เลย น่าหยุดหายใจไป ถ้ามีวิธีไหนจะจัดการกับตัวเองได้ เค้าก็อยากจะทำ จากเดิมเป็นแค่การเพ้อ แต่พอเห็นรายละเอียดวิธีการ แสดงว่าเราก็ทำได้ ดังนั้น ระวังให้มากดีกว่า เพราะถ้าคนที่เป็นโรคถึงจุดสุกงอมแล้ว แทบจะต้องดูแลทุกวินาที บางครั้งญาติหรือพยาบาลก็ดูแลไม่ทัน เหลียวหลังไป เค้าจัดการตัวเองเลยก็มี”

สิ่งที่ รัชนี เรียกว่าการ ‘ช้อนรับ’ อารมณ์ความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายนั้น คือต้องทำให้เค้าเปิดใจให้ได้ ให้รู้สึกว่าชีวิตมีทางออก เพราะคนที่อยากจบปัญหาส่วนใหญ่ 80% ไม่มีความหวัง แต่ก็อยากเล่า ต้องการระบาย จะต้องให้เค้า ‘เปิดใจ’ ออกมาให้เต็มที่

“เราจะค่อยๆ บอกว่า ถ้าเธอตายไป แล้วลูกใครจะเลี้ยงได้ดีเท่าแม่ คิดดูสิ ลูกสาวที่ต้องอยู่กับพ่อขี้เมา ส่วนใหญ่ก็จบลงที่ ซ่องโสเภณี เธอจะยอมมั้ย ให้ลูกเป็นอย่างนั้น อย่าพูดยาว เน้นฟังเค้าก่อน แล้วสะกิดให้เค้ามีสติขึ้นมาว่าถ้ามีชีวิตอยู่ จะเป็นประโยชน์มากกว่า เหมือนการเอาเข็มเจาะให้เห็นทางออก

ทั้งนี้ ทางสมาคมสายใยครอบครัว จะมีคอร์สที่อบรมตั้งแต่ขั้นต้น จนถึงการอบรมในขั้นสูงๆ ขึ้นไป เช่น วิชาเรียนการสื่อสารแบบสันติ ทฤษฏีซาเทียร์ สร้างภูมิคุ้มกันทางจิต รวมถึงการค้นหา ‘เสี้ยนในหัวใจ’ ซึ่งได้ประโยชน์มาก

“คนป่วยทางจิตเวช มักมีเสี้ยนในตัวเอง ต้องค้นหาให้เจอ ถ้าค้างคาไว้ จะเป็นหนอง ต้องบ่มฝีให้ออก ไม่งั้นเจ็บปวดอยู่ตรงนั้น มีวิธีบ่มคือการจิตบำบัด ไม่ได้ใช้เครื่องมืออะไรมาก แต่มีเทคนิคเช่นสร้างบรรยากาศในห้อง เพราะคนพวกนี้ปกติไม่ยอมเปิดเสี้ยนออกมาให้เห็น ต้องมีวิธีพูดให้เค้าย้อนกลับไปคิดในที่สุดคือให้อภัยตัวเอง”

อย่างบางเคส เป็นผู้หญิงที่สมัยวัยเด็ก ถูกพ่อข่มขืน เมื่อเติบโตขึ้นก็เกิดปมในใจ เมื่อมีผู้ชายมาจีบไม่นาน สุดท้ายก็จะเลิกร้างไป เพราะรู้สึกว่าตัวเองเคยถูกพ่อข่มขืนมา

“สุดท้ายเมื่อเข้าสู่การบำบัด จะต้องมีวิธีการเขี่ยเสี้ยน ที่เป็นแผลลึกในหัวใจออกมา จนขั้นสุดท้ายคือการที่เค้ายอมให้อภัยตัวเอง จึงจะใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขได้”

ทางออกหลังจากนี้ ถ้าทุกฝ่ายในสังคมเห็นว่า ภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย เป็นภัยเงียบใกล้ตัว อยากเสนอให้มีการบรรจุการเรียนรู้เรื่องโรคนี้ เข้าไปอยู่ในระบบการศึกษา เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง หากมีสัญญาณในตัวเอง ก็จะเข้าสู่การรักษาได้โดย ไม่ต้องอายใคร หรือกลัวว่าสังคมจะรังเกียจ เพราะเป็นภาวะที่รักษาให้หายได้

นอกจากนั้น ปัญหาจิตใจของ คนในครอบครัว สำคัญมาก เพราะจากข่าวคราวทางหน้าสื่อมวลชน จะเห็นว่าขณะนี้มีเด็กเยาวชน ที่เสี่ยงต่อการคิดสั้นมากขึ้น ดังนั้น จึงอยากสนับสนุนให้โรงเรียนต่างๆ มีการสอนเรื่องความผิดปกติทางจิต สังเกตสัญญาณของโรคและอาการ รวมทั้งวิธีป้องกันรักษา เพื่อตัดวงจรอุบาทว์นี้ให้ได้

“ขณะนี้คนป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยมีมากขึ้น แต่ บุคลากรทางการแพทย์ ก็ยังไม่เพียงพอ เวลาไปพบหมอแต่ละครั้งก็อาจได้พูดคุยเพียงไม่กี่นาที ดังนั้น ทุกๆ ฝ่าย รวมถึงครอบครัว ญาติพี่น้องผู้ป่วย ต้องเข้าศึกษาเรียนรู้ เพื่อช่วยเหลือตัวเองควบคู่ไปด้วย”

รัชนี กล่าวอีกว่า เราสามารถป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายได้ ถ้าทุกฝ่ายหันมาใส่ใจ จึงอยากปลุกสังคมไทยลุกขึ้นมาช่วยกัน โดยเฉพาะสื่อมวลชน ต้องกระตุ้นให้ระดับนโยบาย เห็นความสำคัญ

“เราพยายามขยายความรู้ไปสู่ สาธารณะ เพื่อให้สังคมเห็นว่าโรคซึมเศร้านั้น เป็นภัยเงียบใกล้ตัว แต่จะป้องกันได้ โดยสร้างแกนนำกลุ่มขึ้นมา ผ่านการสอน กลุ่มสามเณร พระ จิตอาสา เฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วย ช่วยให้เค้ามี พลังชีวิต รู้สึกว่าตัวเองมีความหมาย ทำอะไรให้สังคมไทยได้บ้าง”

โรคซีมเศร้า

………………………………………

พื้นที่แม่ทา…กับการเยียวยาปัญหาทางใจ

พื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะ จังหวัดลำพูน มีสถิติการฆ่าตัวตายสูงสุดเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ และปัญหาการคิดสั้น ได้ขยายตัวไปถึงระดับครอบครัวและชุมชนในท้องถิ่น

โดยชุมชนแม่ทา เป็นอำเภอที่มีการสร้างเครือข่ายชุมชน เรียกว่า บ.ว.ร. คือบ้าน วัด โรงเรียน และสร้งแกนนำชุมชนให้ตระหนักถึงปัญหาการป่วยทางจิต

สถานการณ์ต่างๆ ที่เคยเลวร้าย…กลับดีขึ้น

ที่สำคัญคือ การสื่อสาร สร้างความเข้าใจกับผู้คนในชุมชนให้เปิดใจ เห็นอกเห็นใจกัน และสุดท้ายคือใส่ใจ ยื่นมือมาช่วยเหลือ

พัชรี คำธิตา พยาบาลจิตเวช พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลแม่ทา จังหวัดลำพูน เล่าให้ฟังว่า โรงพยาบาลแม่ทา ได้ส่งทีมสาธาณสุข ออกไปสร้างความรู้ ความเข้าใจกับชุมชน เกี่ยวกับ “สัญญาณเตือน” ของอาการที่เป็นจุดเริ่มต้นการป่วยทางจิตเวช

พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนในชุมชนอย่างสม่ำเสมอ มีการพัฒนาเครือข่าย “แกนนำ” โดยจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การเรียนรู้ร่วมกัน ทำให้สามารถป้องกันและรักษาได้ตั้งแต่เริ่มแรก จนสถิติการฆ่าตัวตายของจังหวัดลำพูนค่อยๆ ลดลง

“ถ้าชุมชนใส่ใจกับผู้ป่วยทางจิต เปลี่ยนทัศนคติ จากเดิมที่มองว่าเค้าบ้า มาเป็นความผิดปกติที่รักษาให้หายได้ ถ้าทุกฝ่ายมาช่วยกัน จึงเกิดการทำงานในชุมชน พัฒนาการเข้าถึงบริการ ในโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง” พัชรี กล่าว

ในส่วนของวัด มีการจัดโครงการ “บิณฑบาตรความทุกข์” ให้กับชาวบ้าน โดยพระที่เข้าร่วมโครงการจะมีสมุดบันทึก 1 เล่ม หยิบยื่นให้ชาวบ้านเขียนระบายความทุกข์ใจ เพื่อให้การเทศนาตรงกับปัญหาของผู้ฟัง

ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดทำ กติกาชุมชน เป็นนโยบายสาธารณะ เรื่องของการจำหน่ายและดื่มสุรา ที่ทุกคนจะงดกิจกรรมสังสรรค์นี้ทุกวันพระ โดยขอความร่วมมือจากร้านค้า ได้เสียงตอบรับอย่างดี

“เราได้ใช้เครือข่ายที่ทำงานในชุมชน โดยเฉพาะ ครอบครัว ที่แต่เดิมหวาดกลัวว่า ถ้าหมอจิตเวชมาบ้านไหน บ้านนั้นคือ ผีบ้า แต่เมื่อใช้แกนนำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน พระ เข้ามาช่วยเปลี่ยนวิธีคิด ส่งทีมออกไปสร้างความรู้ ความเข้าใจกับชุมชนถึง สัญญาณเตือนภัย ของอาการที่เป็นจุดเริ่มต้นการป่วยทางจิตเวช ทำให้สถิติผู้ที่คิดสั้นน้อยลง”

ปัจจุบัน อ.แม่ทา มีอัตราการป่วยทางจิตเวช ลดลงจากเดิมเคยสูงถึง 34 คนต่อประชากรแสนคนต่อปี เหลือเพียง 7 คนเท่านั้น และเป็นตัวอย่างที่กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ใช้เป็นโมเดลในการแก้ปัญหาให้กับพื้นที่อื่นๆ ตามมา