ยุวดี ธัญญศิริ

ยุวดี ธัญญศิริ

‘She ’s Always There’ น่าจะเป็นคำไว้อาลัย ที่คนอ่านหนังสือพิมพ์มอบให้เป็นเกียรติแด่ ‘สตรีผู้ทรนง’ แห่งวงการสื่อสารมวลชนไทย…ยุวดี ธัญญสิริ เสาหลักนักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล 

40 ปีในวิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ สี่ทศวรรษที่เธอทำงาน ‘ที่เดิม เล่มเดียว’ ไม่เปลี่ยนแปลงมาตลอดช่วงชีวิต นั่นคือ ‘นสพ.บางกอกโพสต์’ แสดงพื้นฐานของความหนักแน่น เด็ดเดี่ยว และเที่ยงตรงเสมอ 

ไม่ว่าจะเปรียบกับ ‘กระจกส่องสังคม’ หรือ ‘หมาเฝ้าบ้าน’ กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า เจ๊ยุทำหน้าที่ตั้งคำถามแทนประชาชน สะท้อนสภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และตรวจสอบนโยบายรัฐ แบบเอาจริงเอาจัง

“เราทำงานตรงไปตรงมา ไม่มีอคติ ให้เกียรติกับแหล่งข่าวทุกท่าน สมัยก่อนมีคนพูดดูถูกวิชาชีพนักข่าว บางทีเราไม่พูดด้วยเลย นักการเมือง ข้าราชการมีเกียรติ ทุกคนก็ล้วนมีเกียรติเหมือนๆ กันหมด” เจ๊ยุให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปลายปี 2016

แน่นอน ‘ทำเนียบรัฐบาล’ ถือเป็น ‘Frontline’ ศูนย์กลางอำนาจของประเทศ เต็มไปด้วยผลประโยชน์ เหลี่ยมคูทางการเมือง การทหาร และรัฎฐาธิปัตย์ ผู้สื่อข่าวที่ถูกส่งมาประจำที่นี่ ไม่ว่าเด็กใหม่หรือผู้ใหญ่มากประสบการณ์ ย่อมภาคภูมิใจในการทำหน้าที่ตรงนี้ แทนเจ้าของประเทศตัวจริง

เจ๊ยุอยู่ทำเนียบมาเกือบ 40 ปี ‘ภารกิจ’ ตั้งคำถามกับหลากหลายนายกรัฐมนตรี บิ๊กขี้หลี สีเขียว สีกากี และลิ่วล้อผู้ประจบสอพลอ นับไม่ถ้วน กระทั่งวันหนึ่งที่ต้องม้วนเสื่อ…ระหกระเหินไร้สังกัด และเดินจาก ‘บ้านนรสิงห์’ นี้ไปอย่างเจ็บปวด

ย้อนกลับไป ก่อนหน้าที่เจ๊ยุจะเสียชีวิตเพียง 2 เดือน วงการสื่อสารมวลชนโลก ได้พบความสูญเสียมาแล้ว นั่นคือการร่วงโรยของดอกไม้เหล็ก ‘นักข่าวสงคราม’ ผู้อยู่ Frontline เช่นเดียวกัน ‘แคลร์ ฮอลลิงเวิร์ธ’ ตำนานวงการสื่อสารมวลชนโลก

แคลร์ ฮอลลิงเวิร์ธ

แคลร์ ฮอลลิงเวิร์ธ

แคลร์ ฮอลลิงเวิร์ธ

บัตรประจำตัวนักข่าวของแคลร์ ฮอลลิงเวิร์ธ

ฮอลลิงเวิร์ธ อดีตนักข่าวประจำ ‘นสพ.เดลี่ เทเลกราฟ’ ผู้รายงานข่าวการเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สองเป็นคนแรก เมื่อค.ศ.1939 ด้วยวัยเพียง 27 ปี

เธอคือสตรีผู้ยืนอยู่ ‘แถวหน้า’ ของพรมแดนประเทศโปแลนด์ และพบว่าบรรดารถถังของกองทัพนาซีเยอรมัน ได้ยกพลเข้ามาประชิด หายใจรดต้นคอเพื่อนบ้าน

วันนั้นคือประวัติศาสตร์ที่โลกจารึกไว้ ในพาดหัว Exclusive ของนสพ.เดลี่ เทเลกราฟว่า ‘รถถัง 1000 คันเคลื่อนสู่พรมแดนโพลิช ทหาร 10 กองร้อยพร้อมปฏิบัติการรบ’

ฮอลลิงเวิร์ธ ยังเฉียดตายในเหตุระเบิดที่โรงแรม The King David เมืองเยรูซาเล็ม ซึ่งมีคนเสียชีวิตกว่า 100 ศพ เป้าหมายปฏิบัติการอยู่ห่างจากตัวเธอไปเพียง 300 หลา

นี่คือเรื่องราวที่ สะทก สะท้อน ความเป็นมืออาชีพของ ‘ฐานันดร 4’ ผู้ที่ไม่เคยนั่งเขียนข่าวอยู่แต่ในห้องแอร์ แต่เสี่ยงตายด้วยสำนึกรักในการทำหน้าที่แทนสาธารณชน คนอื่นๆ เสมอ

หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ ฮอลลิงเวิร์ธ ยังคงลงพื้นที่ความขัดแย้ง สะท้อนความจริงให้โลกได้รับรู้ ทั้งสงครามกลางเมืองในแอลจีเรีย สงครามเวียดนาม และเหตุการณ์ก่อการร้ายในตะวันออกกลาง เธอเป็นป้อมปรากการด่านแรก ที่คอยตั้งคำถาม นำเสนอรายงานให้แก่คนอ่าน

เช่นเดียวกัน ข่าวสารจากทำเนียบรัฐบาล ที่บายไลน์โดย ยุวดี ธัญญสิริ ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษอันดับหนึ่งอย่างบางกอกโพสต์ ถูกนำขึ้นประเด็นพาดหัวข่าวบ่อยครั้ง ทุกคราล้วน สั่นสะเทือน วงการการเมืองและความมั่นคง นานนับสิบปี

หลายครั้ง ที่แหล่งข่าวระดับรัฐมนตรี อยากปิดไมค์ ปิดปาก ไม่ให้สัมภาษณ์ บางครั้งอดีตนายกรัฐมนตรีบางคน ถึงกับต้อง Back Door ไล่ซื้อหุ้นบางกอกโพสต์เพื่อจะควบคุมประเด็นได้สะดวก

แน่นอน ครั้งล่าสุดที่ บิ๊กตู่ ‘ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ตาขวาง เดือดดาล ถึงกับตวาดเจ๊ยุว่า … “ผมพูดกับพี่อย่าง พี่พูดกับผมอีกอย่างนึง” นั่นหมายถึงว่า สตรีผู้ทรนงแห่งวงการสื่อสารมวลชนคนนี้ ล็อบบี้ไม่ได้!

นักข่าวผู้ย่ิงใหญ่ทั้งสองคนนี้ ต่างมีโมเมนต์คล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือไม่…

ในบั้นปลายชีวิตของ ฮอลลิงเวิร์ธ เธอย้ายไปใช้ชีวิตอยู่เงียบๆ ในฮ่องกง และมีความสัมพันธ์ที่ดี กับสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ  The Foreign Correspondents’ Club โดยมีที่นั่งประจำของเธอในสโมสรแห่งนี้ ซึ่งทุกๆ คน จดจำได้และเข้าไปทักทายเสมอ

…ก่อน ฮอลลิงเวิร์ธ จะเสียชีวิตด้วยโรคชราในวัย 105 ปี

“เธอเป็นแรงบันดาลใจให้กับทุกคน เป็นต้นแบบของนักข่าวรุ่นใหม่โดยเฉพาะสุภาพสตรี ด้วยเกียรติยศแห่งวิชาชีพอันยาวนานนี้ ฮอลลิงเวิร์ธ ปูทางให้แก่พวกเรา เพราะเธอได้พิสูจน์แล้วว่า การเป็นผู้หญิงไม่ใช่อุปสรรคในการเป็นสื่อมวลชน” 

แคลร์ ฮอลลิงเวิร์ธ

สำนักข่าว BBC ยกย่องฮอลลิงเวิร์ธเอาไว้ ในรายงานข่าวการเสียชีวิตของเธอ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2017

ขณะที่ ทารา โจเซฟ ประธานสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ กล่าวว่า ฮอลลิงเวิร์ธ คือ “แรงบันดาลใจมหาศาล”  ของวงการสื่อมวลชน และเป็น “สมาชิกผู้ทรงคุณค่า” ของ FCC ตลอดไป

ในช่วงท้ายของชีวิต ยุวดี ธัญญสิริ เธอใช้เวลาการทำงานอยู่ที่ออฟฟิส ‘สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย’ โดยที่นั่งประจำของเธอใกล้ๆ กับห้องสมุด มีนักข่าวทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ แวะเวียนมาให้กำลังใจเสมอ

ณ ที่แห่งนี้ เจ๊ยุได้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงาน เล่าเบื้องหลังทางการเมือง แชร์ออกไปให้นักข่าวรุ่นหลังๆ ได้ฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเปิดกว้าง

โดยไม่มีใครรู้มาก่อนว่า นี่คือ ‘หนังสือหน้าสุดท้าย’ เหมือนคอลัมนิสต์กำลังกล่าวร่ำลาคนอ่าน ทิ้งไว้เพียงอนุสรณ์แก่วงการที่เธอรัก

….

ถึง ‘เทปอัดเสียง’ จะหยุดโลดแล่นไปแล้ว และเครื่อง ‘พิมพ์ดีด’ ไม่มีโอกาสขึ้นย่อหน้า แต่เชื่อว่าจิตวิญญาณการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดี ของสตรีผู้ทรนงในวิชาชีพ จะยังคงยืนหยัดอยู่เสมอ

‘She ’s Always There’ แด่ ‘แคลร์ ฮอลลิงเวิร์ธ’ และ ‘ยุวดี ธัญญสิริ’