นิยามใหม่ผู้นำโลก

แม้จะถูกวิจารณ์หนักว่า โลกได้เปิดไฟกระพริบ เพื่อ ‘เลี้ยวขวา’ ยูเทิร์นแบบสุดตัว หรือหันหัวรถ ออกไปจากเส้นทางสาย ‘เสรีประชาธิปไตย’ แบบสุดขั้ว?

เสี้ยวหนึ่งของ Reflection นี้ คือบรรดานักการเมืองที่พูดจากไพเราะ ออเซาะ มุ่งเน้นสำนวนโวหาร แต่การกระทำจริงๆ ไม่ตอบโจทย์ ล้วนถูกผลักไสให้จอดรถทิ้งไว้ข้างทางเกือบทั้งหมด!

ปรากฎการณ์ เริ่มอย่างช้าๆ จากภาวะอ่อนล้าทางการเมืองช่วงปลายยุคอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บารัค โอบามา ซึ่งเคยใช้อำนาจ/นโยบายแบบซ้ายสุดขั้ว จนต้องสูญเสียพันธมิตร และสัมพันธภาพที่ดีกับหลายประเทศ หรือแม้แต่ในใจของอเมริกันชนเองก็ตาม

ไม่มีใครปฏิเสธฝีไม้ลายมือ ทั้งเรื่องงานบริหาร วาทกรรมอันโอ่อ่า ดราม่าสุนทรพจน์เรียกน้ำตา แต่ฐานเสียงส่วนใหญ่ของโอบามา มาจากคนชั้นกลาง คนมีการศึกษา เซเลป นักร้อง ดารา และคนผิวสี ชื่นชอบโอบามาตั้งแต่ 8 ปีก่อน ไม่เปรี้ยงเพียงพอให้ พรรคเดโมแครต ชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

แม้สถานีโทรทัศน์ CNN ยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อโลก เชียร์โอบามาและฮิลลาลี คลินตัน แบบสุดลิ่มทิ่มประตู ดูถูกดูแคลน ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ แบบไม่มีอะไรให้คนรู้สึกดี แถมคู่ชกจากรายการ The Apprentice คนนี้ ยังถูกมองว่า เป็นพวกพูดจา-พาโว โผงผาง ปราศรัยไม่มีวาทศิลป์สวยหรู คนดู คนฟังก็น้อยกว่า

“การปราศรัยของโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถเชื่อมโยงกับความรู้สึกของประชาชนได้ดี” เคลลี่แอนด์ คอนเวย์ หัวหน้าทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ ชี้ถึงความแตกต่างระหว่างการปราศรัยของผู้นำคนใหม่กับนางฮิลลาลี

ทุกๆ ครั้ง โดนัลด์ ทรัมป์ จะโชว์ให้เห็นเนื้อหาสาระของนโยบาย ไม่ใช่โวหาร ซึ่งล้วนโฟกัสไปที่เศรษฐกิจและความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน เช่น มาตรการลดภาษี การแก้ปัญหาผู้อพยพ และสร้างกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโก แต่โอ้วว…มันกลับโดนใจ!

ย้อนไปดู บุคคลพูดน้อยต่อยหนัก คู่กัดตลอดกาลของสหรัฐ อย่าง ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ ประธานาธิบดีรัสเซีย ที่เคยถูกอเมริกาสมัยโอบามาและอียู เล่นงานอย่างหนัก ถึงขั้นแซงก์ชั่นทางการค้า ผลจากการเข้าไปแทรกแซงประเทศยูเครน

บารัค โอบามา เคยบอกว่า รัสเซียต้องตายแน่ๆ แต่การณ์กลับตรงข้าม เมื่อคะแนนนิยมของปูตินในแผ่นดินหมีขาว ยังคงแข็งแกร่ง และทั่วโลกต่าง ‘สปอตไลต์’ ในความเฉียบขาด สุขุม ลุ่มลึก และอดทน ของผู้นำคนนี้

ชาวรัสเซีย โหวตปูตินเป็นเบอร์ 1 ติดต่อกันหลายสมัย และเสียงของผู้สนับสนุนภายในประเทศยังมีเสถียรภาพ เขารู้จังหวะการเล่น การพูด การแสดงออกต่อสาธารณะ มีคาแรคเตอร์ส่วนตัวที่เป็น ชาตินิยม อย่างโดดเด่น จนยากที่คู่แข่งทางการเมืองจะโค่นล้มเขาได้ง่ายๆ

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 โลกยังได้รู้จักผู้นำฝีปากกล้าแห่งดินแดนตากาล็อค ประเทศฟิลิปปินส์ ใช่แล้วประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต้ ที่ใช้นโยบายทำสงครามปราบยาเสพติด ไล่ล่า ฆ่านักค้ายาไม่ยั้ง ตายไปแล้วกว่า 2,000 คน จนเคยถูกอดีตผู้นำสหรัฐและยูเอ็นจวกว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายกาจ

“ไอ้ลูกกะหรี่” คือคำที่ดูเตร์เตใช้โต้กลับโอบามา และการประชดให้สหรัฐถอนฐานทัพออกไปพ้นดินแดน รวมถึงขู่ว่าจะถอนตัวออกจากสมาชิกสหประชาชาติ ถ้ามาจุ้นจ้านกับนโยบายภายในประเทศของเขา แต่สุดท้ายทนายหน้าหออย่าง เพอร์เฟกโต ยาเซย์ รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์ ก็ต้องออกมาแก้ข่าวให้ผู้นำสูงสุดของฟิลิปปินส์อยู่เป็นประจำ ว่าสิ่งที่ดูเตร์เต้พูด ไม่ได้หมายความอย่างนั้นจริงๆ

อดีตนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาหลายสมัย ขึ้นชื่อลือชา เรื่องนโยบาย ‘ขวาตกขอบ’ มานานถึง 20 ปี ด้วยนโยบายปราบปราบอาชญากรรมแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน การพูดขวานผ่าซาก วิพากษ์แบบไม่เกรงใจใคร ถึงขั้นเคยด่าโป๊บ พระสันตะปาปาฟรานซิส ที่เสด็จเยือนฟิลิปปินส์และทำให้รถติดนาน 5 ชั่วโมง “กลับบ้านไปเถิดและอย่ามาหาเราอีก” ให้ตายซิ นี่คือ…ดูเตร์เต ผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อปี 2016

หลายๆ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ทั้งเรื่อง Brexit ศัพท์ใหม่ที่ถูกบัญญัติไว้ในวิกิพีเดียเรียบร้อย หรือคะแนนนิยมของ มารีน เลอ เปน หัวหน้าพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (FN) ฝรั่งเศส ซึ่งเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งสามารถนำกระแสลมขวาจัด พัดกลับมาสู่การเมืองในอียู จนเกิดความอึมครึมและความไม่แน่นอนขึ้นอีกครั้ง โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในรอบแรก จะเกิดขึ้นวันที่ 23 เม.ย. และรอบตัดสินในวันที่ 7 พ.ค.นี้

ขณะที่ แกร์ต วิลเดอร์ส หัวหน้าพรรคเสรีภาพแห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด มีนโยบายกีดกันคนมุสลิม และสนใจที่จะออกจากสมาชิกอียู จนได้รับฉายาว่า โดนัลด์ ทรัมป์ คนใหม่ในดินแดนกังหันลม กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งการเลือกตั้งจะมีขึ้นวันที่ 15 มีนาคมนี้

วิคเตอร์ ออร์บาน แห่งพรรค Fidesz-KDNP ชนะการเลือกตั้งในฮังการี ที่ถูกมองว่าเป็นพวกนิยมขวาเช่นเดียวกัน โดยใช้นโยบายที่เป็นอิสระ พึ่งพาตนเองภายในประเทศ มุ่งแนวทาง ฮังการีต้องมาก่อน เช่นเดียวกับโดนัลด์ ทรัปม์ ที่ประกาศว่า America First 

ปิดท้ายด้วยการเลือกตั้งของเยอรมนี ‘เสาหลัก’ แห่งโลกเสรีนิยม วันที่ 24 ก.ย. 2017 ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์นโยบายของหญิงเหล็ก อังเกลา แมร์เคิล ที่โอเพ่นให้กับผู้อพยพจากซีเรียและประเทศมุสลิมเข้าสู่สหภาพยุโรป เพื่อหลัก มนุษยธรรม จะรักษาตำแหน่งของเธอเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกันได้หรือไม่

ผลการเลือกตั้งในยุโรปนับจากนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เหมือนการ เอ็กซเรย์ ส่วนต่างๆ ของโลกใบนี้ ว่าจะยังแข็งแรงหรืออ่อนแอแค่ไหน รูปแบบของการสื่อสารกับประชาชน ของนักการเมืองคงจะต้องเปลี่ยนแปลงไป คำพูดสวยหรู แต่ทำไม่ได้จริง ปราศัยดีแต่ไม่ตรงกับความเดือดร้อนของคนส่วนใหญ่ คงต้องเกิดการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์กันครั้งใหญ่

ผลที่ออกมายังจะสะท้อนว่า “โรคเบื่อนักการเมืองปากหวาน” … จะลุกลามไปทั่วโลกหรือไม่ และอุดมการณ์ขวาจัด จะกลับมาอย่างสง่างาม หรือน่าเกรงขามเพียงใด!