นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ

เดือนตุลาคม 2560 ห้วงเวลาครบ 1 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เว็บไซต์ Real-inspired ขอนำบทสัมภาษณ์ ศ.เกียรติยศ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ แพทย์ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งเคยตีพิมพ์ไว้ในนิตยสาร บรรดาเรา ของสมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ สะท้อนให้เห็นถึงความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ พระราชาผู้มีประชาชนในทุกลมหายใจ

…….

นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ

“ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดมาจากสมุทรสงครามเรียนมัธยมตอนต้นที่โรงเรียน ศรัทธาสมุทร เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ผมถือว่าโรงเรียนศรัทธาสมุทรมีบุญคุณที่ให้การศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้ผมได้มาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบ พอเข้าสวนกุหลาบมีครูสอนแต่ละวิชา โดยเฉพาะคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งสำคัญต่อการเรียนแพทย์มาก ทำให้เข้าใจวิชานี้ดีขึ้น”

แม้ต้องเผชิญอุปสรรคจากสงครามโลกโรงเรียนปิดการสอน 1 ปี และน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพแต่นายแพทย์สงครามก็ไม่เคยย่อท้อต่อการเรียนรู้มุ่งมั่นและฝ่าฟันกระทั่งสำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้รับทุน MSA ธนาคารโลก (World Bank) ที่อเมริกาไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 4 ปี ณ มหาวิทยาลัย Columbia กรุงนิวยอร์ค จบการเรียนสาขาเชี่ยวชาญด้านโรคทรวงอก กลับมาพัฒนางานการแพทย์ของกรมชลประทาน ที่กำลังก่อสร้างเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศรวมทั้งเขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนใหญ่ระดับโลกต้องกู้เงินจากธนาคารโลก

เมื่อกลับมาเมืองไทยถึงแม้ได้รับการชักชวนให้ทำงานประจำเป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ แต่คุณหมอนึกถึงบุญคุณที่รับทุนไปศึกษาในต่างประเทศ ยังคงทำงานสานต่อการทำงานที่โรงพยาบาลชั่วคราว บริเวณก่อสร้างเขื่อนภูมิพล โดยมีแพทย์ 5 คน ป้องกันโรคฝุ่นหิน รักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงชาวบ้านในจังหวัดตากด้วย

การก่อสร้างเขื่อนภูมิพล มีชาวอเมริกาทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีสัญญากับกรมชลประทานว่า ต้องจัดแพทย์ดูแลรักษาฟรีหรือจ้างแพทย์จากอเมริกาถ้าไม่เป็นที่พอใจ และเมื่อเสร็จการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลได้มีโอกาสพัฒนาโรงพยาบาลชลประทานที่ปากเกร็ดจนแพทยสภาอนุมัติให้เป็นสถาบันฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัดแห่งเดียวในจังหวัดนนทบุรีในขณะนั้น ต่อมา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมาขอโอนโรงพยาบาลไปอยู่ในสังกัด เพื่อสอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน (เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุโรงพยาบาลชลประทานมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) แต่ด้วยจิตใจที่เสียสละเพื่อส่วนรวมจึงอุทิศตนในวันหยุดงานช่วยเหลือคนไข้ใน โรงพยาบาลโรคปอดกรุงเทพ’ (ประสานมิตร) ของ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ตั้งแต่ พ..2504 ซึ่งเป็นที่รวมของแพทย์และศัลยแพทย์โรคทรวงอก จากหลายสถาบัน ทั้งโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลรามาธิบดี

นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ

นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ

นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ

ภารกิจที่โรงพยาบาลแห่งนี้นี่เองทำให้คุณหมอได้ทำงานร่วมกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร (พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ) ซึ่งได้ช่วยทำผ่าตัดที่โรงพยาบาลชลประทานด้วย เป็นที่มาของการเริ่มถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

นายแพทย์สงครามกล่าวว่าเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2518 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระประชวรด้วยโรคพระปัปผาสะ (ปอด) อักเสบ ขณะประทับอยู่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์

“อาจารย์กัลยาณกิติ์ และผมไปร่วมถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งอาจารย์กัลยาณกิติ์ (ศัลยแพทย์ทรวงอก) และผมเป็นกรรมการแพทย์ (แพทย์โรคทรวงอก) ถวายการรักษาได้วินิจฉัยพระโรคว่าพระองค์ทรงเป็นโรคพระปัปผาสะ (ปอด) อักเสบจากเชื้อมัยโคพลาสมา นิวโมนิอี (แถลงการณ์สำนักพระราชวัง) ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนในประเทศไทย”

“หลังจากนั้นในเดือนเมษายนปีเดียวกันพระองค์ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ผมตามเสด็จฯ ในการเสด็จฯแปรพระราชฐานไปที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์รับสั่งว่าเพื่อจะได้รู้ว่าถนนที่ต้องเดินทางผ่านมีฝุ่นมากแค่ไหนปรากฎว่ารถพระที่นั่งมีฝุ่นเข้ามาในรถแม้จะปิดกระจกเปิดแอร์ก็ตามฝุ่นยังเข้ามาในรถเยอะจนต้องเอาดินน้ำมันอุดตามขอบกระจกรถพระที่นั่งผมจำได้ว่าคราวนั้นไปเยี่ยมราษฎรและผู้ป่วยในสถานพยาบาลชั่วคราวที่รับสั่งให้จัดตั้ง และเสด็จฯไปแก้ไขน้ำเปรี้ยวที่อำเภอสุไหงโกลก และโครงการชลประทานส่งน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกที่ตากใบ และการระบายน้ำที่อำเภอบาเจาะจังหวัดนราธิวาส”

พ.ศ. 2525 พระองค์ทรงพระประชวรพระปัปผาสะ(ปอด)อักเสบมัยโคพลาสมาครั้งที่สอง และทรงมีพระอาการทางพระหทัยด้วย (แถลงการณ์สำนักพระราชวัง) โปรดเกล้าฯให้นายแพทย์สงคราม เข้าถวายการรักษาอีกครั้ง เมื่อทรงหายจากพระอาการพระประชวรแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ไปร่วมถวายงานฟื้นฟูพระวรกาย และการออกกำลังพระวรกายสัปดาห์ละ 3 วัน ทั้งที่พระตำหนักสวนจิตรลดาและตามเสด็จฯเป็นครั้งคราวในการเสด็จฯแปรพระราชฐานด้วย

กระทั่งนพ.สงครามอายุใกล้ 60 ปีก่อนถึงเวลาเกษียณอายุราชการทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มาทำงานเป็น ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ เป็นผู้ช่วยแพทย์ประจำพระองค์ และต่อมาเป็นผู้รักษาการตำแหน่งแพทย์ประจำพระองค์และโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็น แพทย์ประจำพระองค์ ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา

นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ

ในแต่ละปีนายแพทย์สงครามได้ตามเสด็จฯ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯแปรพระราชฐานไปจังหวัดต่างๆ ประมาณ 7 เดือนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศได้มีโอกาสเห็นพระองค์พัฒนาพื้นที่ต่างๆ รวมเรื่องการสาธารณสุขและการแพทย์พระองค์โปรดเกล้าฯให้ คณะแพทย์ที่ตามเสด็จ ตรวจผู้ป่วยที่เป็นชาวบ้านชุมชนรอบๆ พระตำหนักและสถานที่ที่เสด็จฯออกพื้นที่ชนบทห่างไกลด้วย ที่เรียกว่า แพทย์พระราชทาน 

การแพทย์ชนบทสมัยนั้นเมื่อ 60 ปีก่อน โรงพยาบาลอำเภอแทบไม่มีหมอ บางจังหวัดมีหมอแค่สองคน เมื่อพระองค์พบประชาชนมีอาการเจ็บป่วยมาก จะทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์

“ผมประทับใจพระองค์มากที่ทรงคิดถึงการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนตลอดเวลาเช่น พระราชทานอธิบายเรื่องการป้องกันโรคหัวใจแก่ประชาชนผ่านทางโทรทัศน์หลังจากทรงหายจากพระโรคเส้นพระโลหิตพระหทัยตีบเมื่อ พ.ศ.2538 เมื่อพระชนมายุครบแต่ละรอบรับสั่งว่าไม่ต้องถวายสิ่งที่เป็นที่ระลึกสำหรับพระองค์เป็นพิเศษให้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน เช่น สวนสาธารณะจตุจักรเมื่อพระชนมายุครบ 4 รอบ 48 พรรษาและครบ 60 พรรษาก็ได้สร้างสวนหลวง ร.9 เพื่อประโยชน์และสุขภาพของประชาชน”

ขณะเดียวกันพระองค์ยังทรงเป็น ครูสอนนายแพทย์สงครามเรื่องวิธีอ่าน แผนที่ ภูมิประเทศคำนวณมาตราส่วนต่างๆ พิกัดความสูงต่ำจากระดับน้ำทะเล หรือลักษณะภูมิประเทศ เป็นต้น

“นอกจากวิชาแพทย์ที่ผมต้องศึกษาเพิ่มเติมแล้วก็ได้รับความรู้รอบตัวจากพระองค์ท่านเพิ่มขึ้น มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้านทำให้เข้าใจปัญหาด้วยแนวทางพระราชดำริเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”

การทำหน้าที่แพทย์ประจำพระองค์ทำให้นพ.สงครามเห็นพระราชกรณียกิจ พระราชกิจและการปฏิบัติพระองค์ที่ทรงเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะสิ่งหนึ่งที่พระองค์ทรงยึดมั่นนั่นคือ ความกตัญญูรู้คุณ” 

ความกตัญญูรู้คุณจึงเป็นหลักชัยในการดำเนินชีวิตของนายแพทย์สงครามยึดถือมาโดยตลอดว่า…เกิดเป็นคนไทยต้องไม่ลืมบุญคุณของผู้มีพระคุณและของแผ่นดินเป็นคนไทยต้องไม่ลืมพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ปกป้องประชาชนและแผ่นดินของประเทศไทยมาถึงทุกวันนี้

ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีอาการพระประชวรเสด็จเข้าประทับในโรงพยาบาลศิริราชเมื่อ พ.ศ. 2549 และทรงมีพระอาการประชวรมากขึ้นในระยะหลังตามแถลงการณ์สำนักพระราชวังที่แจ้งให้ประชาชนทั่วไปทราบ นายแพทย์สงครามในฐานะแพทย์ประจำพระองค์ได้ทำงานถวายพระองค์ท่านขณะที่ประทับอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชได้ถวายการรักษาร่วมกับทีมแพทย์ของโรงพยาบาลศิริราชอย่างใกล้ชิด…กระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมพ.ศ.2559

ไม่ว่าจะในฐานะแพทย์ประจำพระองค์หรือนายแพทย์ผู้เปี่ยมไปด้วยเกียรติภูมิแห่งวิชาชีพ ศ.เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ได้รับรางวัลจากหลายสถาบันทั้งในประเทศและนานาชาติ รวมทั้งองค์การอนามัยโลก และได้รับการคัดเลือกจากแพทยสภา ให้เป็นปูชนียแพทย์