“เด็กประหลาด” “เด็กดำ” “นังผมดำ” แมรี่ถูกล้อเลียนจากเพื่อนเสมอ อย่าว่าแต่เพื่อนเลย แม้ตัวแมรี่เองก็แปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกัน “ทำไม ฉันไม่มีผมสีบลอนด์ หรือสีน้ำตาล แล้วก็ตาสีฟ้าเหมือนคนอื่นนะ”
เธอจำได้ว่าถูกเพื่อนล้อด้วยคำพูดซ้ำๆแบบนี้ตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียนจนเข้าไฮสคูล
แล้ววันหนึ่งความอดทนของเธอก็ถึงที่สุด เมื่อถึงเวลาพักเที่ยง เธอถูกห้อมล้อมด้วยเพื่อนห้องเดียวกันและข้างห้องทั้งผู้ชายและผู้หญิง พวกเค้าต่างหันหน้าตะโกนใส่มาที่เธอ “แมรี่ นังเด็กประหลาด” “แมรี่ นังเด็กประหลาด” “แมรี่นังเด็กประหลาด”
แมรี่ก้มหน้า แล้วก็ใช้มือปิดหูปิดตาทั้งสองข้าง วิ่งฝ่าวงล้อม หนีเสียงก้องจากภายนอกและในใจเธอวิ่งสุดชีวิตให้ลืมเสียงตะโกนที่แทรกซึมเข้าทุกรูขุมขนตรงไปที่เป้าหมาย นั่นคือ บ้านของเธอ
“มัมๆ” แมรี่ตะโกนเรียกแม่ของเธอทั้งน้ำตาล
“เกิดอะไรขึ้นแมรี่” แม่ของแมรี่วิ่งปรี่ออกมาจากห้องครัวท้ายบ้าน ตามเสียงของแมรี่ สิ่งที่เธอเห็นคือ เด็กหญิงผมหยิกตัวน้อยกับน้ำตานองหน้า
“หนูเป็นลูกของมัมกับแด๊ดจริงหรือเปล่าคะ” “เพื่อนบอกว่าหนูไม่เหมือนแด๊ดกับมัม และไม่เหมือนพวกเค้าเลย” แมรี่ถามระรัว
คำถามของแมรี่ทำให้ซูซานจุกที่อก ก่อนจะถอนหายใจออกมาเฮือกใหญ่ เธอดึงแมรี่มากอดไว้แน่นเพื่อปลอบโยนเธอเหมือนทุกครั้งที่แมรี่มีเรื่องเสียใจ แต่ครั้งนี้ซูซานกอดนิ่งนาน เพื่อให้ตัวเองตั้งหลักที่จะตอบแมรี่เช่นเดียวกัน
“ฟังแม่นะ หนูเป็นลูกของแม่” เสียงของซูซานหนักแน่น “หนูรักแม่ไหม” เธอถามแมรี่ด้วยความอบอุ่นอย่างเคย
แมรี่พยักหน้า “แล้วทำไมหนูไม่เหมือนมัมคะ” แมรี่รีบถามกลับ
ซูซานนิ่งชั่วครู่ เพื่อหาคำตอบที่ถนอมหัวใจของแมรี่ ลูกที่เธอรัก “เพียงแต่หนูเกิดอีกเมืองหนึ่ง ผู้ให้กำเนิดหนูอยู่ที่เมืองไทย เค้ายากจน ต้องทำงานหนัก เลี้ยงหนูไม่ไหว หนูเลยมาอยู่กับแม่ไงจ๊ะ ”
“แล้ววันหนึ่งแม่จะพาหนูกลับไปเมืองที่หนูเกิดนะ” ซูซาน เกี่ยวนิ้วก้อยของแมรี่เป็นคำสัญญา
หลายปีผ่านไป ซูซานและแม็คพาแมรี่มาที่เมืองไทย มายังแผ่นดินแม่ของเธอตามที่ปรารถนา เมื่อมาถึงสถานสงเคราะห์เด็ก แมรี่กลับหยุดยืนนิ่งนานด้านหน้า เธอลังเล เพราะการกลับมาเพื่อฟังเรื่องราวของตัวเองไม่ได้ง่ายนักสำหรับเธอ
“ที่นี่ไงจ๊ะ ที่ที่แมรี่ มัม และแด๊ดได้มาเจอกัน เป็นครอบครัวเดียวกัน” ซูซานกระซิบข้างหูแมรี่ก่อนจูงมือเธอเดินต่อไป
ป้าแหวว ร่างท่วมดูใจดี ออกมาต้อนรับครอบครัวของแมรี่ในฐานะคนทำงานในสถานสงเคราะห์มานาน ป้าแหวว เริ่มต้นเล่าให้แมรี่ โดยมีซูซานและแม็คนั่งข้างๆ
“เมืองไทยมีคนยากจนเยอะ และหลายคนไม่พร้อมจะเลี้ยงลูกที่กำเนิดจากตัวเอง เพราะยังเด็กเกินไป ยังไม่มีงานทำ ปีๆหนึ่งมีเด็กเล็กๆ ถูกนำมาฝากไว้ที่สถานสงเคราะห์ของป้าและที่อื่นหลายคน เพื่อนป้าที่อยู่กรมกิจการเด็กและเยาวชน ที่ดูแลเรื่องนี้ บอกว่าล่าสุด ช่วง พ.ศ. 2555-2558 มีเด็กถึง 662 คน ที่ถูกส่งมาที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนของราชการทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ ไม่นับรวมเด็กที่ถูกฝากไว้ที่สถานสงเคราะห์ของเอกชนอีกจำนวนหนึ่ง”
“ผู้ที่ให้กำเนิดหนูก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ที่ต้องมาฝากหนูไว้กับบ้านหลังนี้ ป้าเดาใจหนูว่าอยากเจอเค้าใช่ไหม”
แมรี่ พยักหน้าเป็นการตอบรับ
“ยากอยู่นะ เพราะเค้าไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้เลย แต่หากมีปาฏิหาริย์ ได้เจอกัน หนูจะทำอย่างไร แล้วจะเรียกเค้าว่าอย่างไร” ป้าแหววตั้งคำถาม เพื่ออธิบายต่อว่า
“หนูกลับไปคิดนะ ว่าคำว่า “แม่” ในความหมายของหนูต้องเป็นยังไง แต่สำหรับป้า คำนี้มีความหมายมากนะ มากกว่าการตั้งท้องและคลอดเด็กออกมา แต่ต้องให้ความรัก ความอบอุ่น ดูแล รับผิดชอบ เพื่อให้ลูกที่ตนเองให้กำเนิดเติบใหญ่ เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศด้วย”
ป้าแหวว แมรี่ ซูซาน และแม็ค ต่างนิ่งเงียบ ไม่มีใครเดาใจใครถูกในช่วงเวลานี้
“แม่ของหนู คือ ซูซานนะ” ป้าแหววจับมือแมรี่ และกวาดสายตาไปที่ซูซาน
แมรี่พยักหน้า พร้อมร้อยยิ้ม และน้ำตารินอาบสองแก้ม เธอหันไปกอดซูซาน “หนูรู้คะว่ามัมรักหนูมากแค่ไหน”
บรรยากาศแห่งความอบอุ่นของครอบครัว ทำให้ป้าแหวว อดพูดไม่ได้ว่า “แมรี่ หนูยังโชคดีนะที่ผู้ให้กำเนิดเอาหนูมาไว้ที่นี่ ทำให้หนูมาเจอแม่ซูซาน กับพ่อแม็คไงจ๊ะ ขณะที่เด็กจำนวนมากถูกทิ้งตามถนนหนทาง ตามที่สาธารณะ และหลายคนก็ต้องตายไปตั้งแต่มือเล็กๆยังกำแน่นอยู่เลย”
“ป้าเชื่อว่า ซูซานและแม็คเลี้ยงหนูมาอย่างดี” ป้าแหวว ทิ้งท้ายก่อนบทสนทนาจะจบลง
“โชคดีนะแมรี่ มาเยี่ยมป้าอีกนะ” ป้าแหววโบกมือลาแมรี่ และครอบครัว
หลายปีผ่านไปแมรี่เติบโตท่ามกลางความรักความอบอุ่นของซูซานและแม็คอย่างไม่เปลี่ยนแปลง เธอ จึงเป็นสาวที่สดใส พร้อมมอบรอยยิ้มให้ผู้คนเสมอ ทำให้แมรี่เป็นขวัญใจของชุมชนเล็กๆแห่งนี้
แมรี่ตั้งร้านเล็กๆที่หัวมุมถนนใกล้บ้านที่เธอเติบโตมา ชื่อว่า “Mary in SIAM” ร้านขนมปังอบหอม กับชาอุ่นๆของแมรี่ขึ้นชื่อลือชาไปทั่ว ทั้งในเมือง และนักท่องเที่ยว หากมีคนไทยแวะมาร้านของเธอ แมรี่จะอธิบายเป็นภาษาไทยถึงความหมายของชื่อร้าน
“มะลิของสยาม” นะคะ ชื่อร้านก็คือชื่อของฉัน ฉันชื่อ “มะลิคะ” เธอบอกด้วยความภูมิใจเสมอ
“มะลิ” เป็นชื่อที่ป้าแหววตั้งให้ พร้อมบอกความหมายไว้ว่า เป็นดอกไม้ของไทยที่หอมมาก และเป็นสัญลักษณ์แทนความกตัญญู
แมรี่พูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว และไปเมืองไทยเสมอ สิ่งที่เธอทำไม่เคยขาดทุกๆปี คือ การไปหาป้าแหววที่สถานสงเคราะห์ ที่เธอเคยอาศัยในช่วงเวลาหนึ่ง แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ ที่เธอก็จะจำความอะไรไม่ได้ แต่ก็รู้สึกผูกพัน และสำนึกในบุญคุณของที่นี่
สิ่งที่แมรี่จะทำยามมาหาป้าแหวว ก็คือ การทำขนมปังอบหอมๆตามสูตรของเธอ มอบให้เด็กๆและพี่ๆที่สถานสงเคราะห์ ที่เธอ รู้สึกว่า พวกเขาทำงานหนักด้วยหัวใจ และยังหอบขนมปังอบชุดใหญ่ไปให้เด็กในชุมชนต่างๆด้วย
แมรี่คิดในใจว่า ขนมปังอบ ของเธออาจเปลี่ยนแปลงสังคมไม่ได้ เปลี่ยนให้วัยรุ่นทุกคนตั้งใจเรียนแทนที่จะตั้งท้องก่อนวัยไม่ได้ เปลี่ยนให้ทุกคนในสังคมมีความเท่าเทียมกันไม่ได้ เปลี่ยนให้มีแต่คนที่ร่างกายครบ 32 ไม่ได้ หรือทำให้ทุกคนมีแต่ความสุข พร้อมมอบความสุขให้คนรอบข้างไม่ได้
แต่ขนมปังอบของเธอเป็นสัญลักษณ์แห่งความอบอุ่น เพื่อเติมเต็มให้เด็กที่มีหัวใจขาดแหว่งจากการถูกทอดทิ้ง ถูกละเลยจากครอบครัวและสังคม ย้ำเตือนให้เธอไม่เป็นอีกผู้หนึ่งที่สร้างภาระเพิ่มให้บ้านเมือง ไม่ว่าเธอจะอยู่ในสังคมไหนก็ตาม
“ฉันจะไม่ทอดทิ้งใคร” เสียงของแมรี่ดังกึกก้องในหัวใจเสมอเมื่อมอบ ขนมปังอบ ให้เด็กไร้เดียงสา
เธอรู้ดีว่า แม้ซูซานและแม็คจะเป็นมัมและแด๊ดที่ดีที่สุดในโลก แต่คงไม่มีเด็กคนไหนจะมีความสุขเท่าการได้อยู่กับครอบครัวที่ให้กำเนิด ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่ว่าพ่อแม่จะด่าทอ หรือโหดร้ายกับลูกเพียงใด แต่สำหรับหัวใจของเด็กแล้ว พ่อและแม่ คือ “บุคคลที่ลูกปรารถนาเสมอ”